จนท.ป่าไม้ พาชี้เป้าต้นไม้ 'ฌอน' ร่วมปลูก อยู่ช่วงผลัดใบ เป็นไม้โตช้า ยันดูแลอย่างดี

สังคม

จนท.ป่าไม้ พาชี้เป้าต้นไม้ 'ฌอน' ร่วมปลูก อยู่ช่วงผลัดใบ เป็นไม้โตช้า ยันดูแลอย่างดี

โดย

16 ม.ค. 2564

578 views

ผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Tee Hit ซึ่งอาศัยอยู่ ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้ โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 14 มกราคม ว่า "ฌอน นายจำได้มั้ย?? ป่าที่นายเคยมาปลูก ต้นไม้ที่นายเคยปลูกก็ยังไม่มีใบงอกมาสักใบเลย ผ่านไปเป็นปีแล้ว นายกลับมาดูแลบ้าง"  
สถานที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เดียวกับที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะไปปลูกป่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563  ทุ่มงบ 23,550,000 ในการดำเนินโครงการฯ จัดกิจกรรม Climate Festival และประชาชาสัมพันธ์โครงการ  ซึ่งภายหลังที่ปลูกป่าเสร็จกลับกลับไร้คนดูแลปล่อยแห้งตายเหลือแต่กิ่ง
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายตี๋ นาหยอด เอ็นจีโอด้านการสื่อสารการขอสัญชาติกลุ่มชาติพันธุ์ เปิดเผยว่า ตนเองทำงานด้านการสื่อสารเกี่ยวกับการขอสัญชาติให้กับกลุ่มชาติพันธุ์โดยได้รับการสนับสนุนจาก UNDP และ Realframe ซึ่งได้ติดตามโครงการปลูกป่าในพื้นที่เชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง  
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม ได้เดินทางไปถ่ายภาพบริเวณพื้นที่การปลูกป่าอีกครั้งพบว่าต้นไม้ที่ ปลูกในโครงการดังกล่าวตายเกือบทั้งหมด เหลือรอดจำนวนน้อยมากไม่ถึง 10 ต้น  ในฐานะที่ตนเป็นชาวไทยใหญ่และอาศัยอยู่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวบ่อย  เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีคนไปท่องเที่ยวฟาร์มในพื้นที่ จากภาพที่เห็นไม่หลงเหลือสภาพต้นไม้ ที่ผ่านการดูแลในช่วง 1 ปี และการล้อมรั้วไม้ไผ่ต้นไม้ที่ พล.อ.ประวิตร  เคยปลูกก็ไม่มีแล้ว เหลือแต่ไม้ไผ่ที่ปักไว้ตามหลุมปลูกเท่านั้น ก่อนหน้าจะมีโครงการปลูกป่านั้น พื้้นที่ตรงนี้เป็นป่ารก ๆ โดยมีพื้นที่ไม่เสมอกัน ก่อนที่จะถูกไถ่ดินให้เท่ากันเป็นแนวยาว และมีโครงการปลูกป่า โดยถูกปล่อยไว้เช่นนี้ มีคนมาไถ ๆ ให้ไม่ดูรกบ้าง สำหรับตัวเองแล้วอยากให้เป็นแบบเดิมมากกว่า หากทำแล้วได้เท่านี้ เพราะสามารถนำงบประมาณไปทำอะไรอย่างอื่น ที่เป็นประโยชน์จะดีกว่านี้ได้
ตนอยากสะท้อนว่าการทำอะไรแบบนี้มันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร งบประมาณจากภาษี  ประชาชน ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ประชาชน ไม่ใช่เพื่อการสร้างภาพ เสร็จแล้วก็ไม่ได้กลับมาดูแล อยากให้คนตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อน และหันมารักษาสิ่งแวดล้อมปลูก ต้นไม้ โดยเกิดจากจิตสำนึก ไม่ใช่แค่เพื่อการสร้างภาพให้ดูดี บนซากของความล้มเหลว และไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
หลังจากเป็นประเด็น เมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ และได้ทำการขูดต้นไม้ที่ปลูก พบว่าต้นไม้ที่ผลัดใบยังมีสภาพสด ไม่แห้ง พร้อมผลิใบเมื่อผ่านพ้นฤดูแล้งตามสภาพของไม้ป่า และได้นำรถมารดน้ำให้ต้นไม้ชุ่มชื้น เคลียร์วัชพืชรอบ ๆ ต้นกล้าที่ปลูกไว้ ตายแค่บางส่วนเท่านั้น  
ขณะที่ต้นตะเคียนทองที่ปลูกไว้โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ที่บุคคลสำคัญปลูก จำนวน 47 ต้น และที่ปลูกเสริมเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง รวมเป็น 60 ต้น ไม่ได้ตายหมดตามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย จากนี้เตรียมจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ในการดูแลมากขึ้น เตรียมปลูกต้นไม้เพิ่มทดแทนต้นที่ตายให้ครบ 60 ต้น
นายศิริชัย ทองประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่1 เชียงใหม่  ระบุว่า ต้นไม้ที่ปลูกไว้เป็นไม้เศรษฐกิจและโตช้า ได้แก่ ประดู่ มะค่า พะยูง สัก ตะเคียนทอง ซึ่งจะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนั้นในเวลานี้จึงอาจจะยังไม่เห็นผลว่าต้นไม้สูงใหญ่เพราะเพิ่งปลูกเมื่อกลางปี 2563 ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะดูแลอย่างดีที่สุด เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้อยู่รอดและยืนต้นเติบใหญ่ในระยะยาว พร้อมชี้แจงว่าโครงการปลูกป่าดังกล่าวนี้ “ฌอน” เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมจัดหรือดำเนินการแต่อย่างใด
นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงว่า ต้นไม้ที่ปลูกมีเปอร์เซ็นรอดตายเกิน 90 % แต่มีสภาพลักษณะของการผลัดใบตามธรรมชาติในฤดูแล้ง และแตกยอดออกใบใหม่ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นการปรับตัวตามธรรมชาติเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ขณะนี้บางต้นก็เริ่มแตกยอดและออกใบใหม่ให้เห็นบ้างแล้ว ที่ผ่านมาสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ ได้นำเจ้าหน้าที่และจิตอาสา ทหาร แพ้วถางวัชพืช ช่วยกันบำรุงดูแลรักษาต้นไม้ในบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ยืนยันไม่ได้ปล่อยทิ้งให้ต้นไม้แห้งตายตามที่เป็นข่าว ต้นไม้ที่ปลูกมีควมแข็งแกร่งไม่เท่ากันอาจจะมีตายบ้าง ต้นไม้ที่ฌอนปลูก ก็ไม่รู้ว่าเป็นต้นไหน พร้อมระบุว่าถ้าต้นไม้ที่ปลูกตายก็ต้องเข้าไปปลูกซ่อมใหม่ “ไม่รู้ว่าคนโพสต์ภาพและข้อความเขามีเจตนาอะไร การปลูกป่าของเรามีขั้นตอนในการาดูแลรักษาอยู่แล้ว”
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้ประสานกับ ทีโอที เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่น เพื่อติดตามตรวจสอบการฟื้นฟูป่าทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการปลูกป่าประชาชนมีความกังวลใจว่า ป่าที่ปลูกไปปลูกที่ไหน ตรวจสอบได้หรือไม่ ปลูกแล้วจะโตหรือไม่ ซึ่งคนไม่สบายใจ ดังนั้น แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน จะสามารถตรวจสอบได้เลยว่าป่าที่ปลูกมีสภาพอย่างไร อยู่พื้นที่ไหน
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์เนื่องจากติดภารกิจอยู่ต่างจังหวัด ระบุว่า เป็นเรื่องปกติของการปลูกป่า ในภาพรวมถือว่ากล้าไม้มีการเติบโต ส่วนภาพที่เห็นในโลกออนไลน์คาดว่าต้นไม้กำลังผลัดใบ จึงอาจดูเหมือนใบไม้ร่วงหมด ในส่วนต้นไม้ที่ตายเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปปลูกเสริมทดแทน อย่างไรก็ตามในโครงการรวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทส. ได้ตั้งเป้าจะปลูกป่าในครบ 2.68 ล้านต้นทั่วประเทศ โดยเลือกใช้พื้นที่ที่เสื่อมโทรมเพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ภายในปี 2570
สำหรับโครงการปลูกป่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ภายใต้ "โครงการรวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อฟื้นฟูป่า และเพื่อพื้นที่สีเขียว" มี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้เอม (ทส.) พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงเข้าร่วมจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ว่าราชการจังหวัด 9  จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมด้วย งานจัดขึ้นที่บริเวณป่าดอยสุเทพ บ้านศาลา (ห้วยตึงเฒ่า) หมู่ที่ 3 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  มีพื้นที่การปลูกรวม 210 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่  ร่วมปลูกป่าพร้อมกันทั้ง 25 อำเภอในเวลาเดียวกันด้วย
พล.อ.ประวิตร กล่าวในเวลานั้นว่า รัฐบาลมีนโยบายปลูกฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และ สนับสนุนให้ประชาชนได้มีการปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ตนเอง เพราะรัฐบาลมีนโยบายในการปลูกต้นไม้มีค่า ที่สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในอนาคต และเป็นสมบัติให้กับครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปลูกป่าในครั้งนั้นปรากฎว่าได้เกิดประเด็นดราม่า เมื่อนักสร้างแรงบันดาลใจ ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ ไลฟ์โค้ชชื่อดังได้นำคลิปมาเผยแพร่และเขาพูดในคลิปตอนหนึ่งแสดงความชื่นชม พล.อ.ประวิตร ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก ทำให้โลกโซเชียลรุมถล่มกันอย่างหนักหน่วง ในเวลานั้นเกิดคำถามว่าฌอนไปร่วมโครงการปลูกป่ากับ พล.อ.ประวิตร ได้อย่างไรและทำไมจะต้องแสดงความชื่นชมกันออกนอกหน้าขนาดนั้น ซึ่งทางกระทรวง ทส. และพล.อ.ประวิตรต่างปฏิเสธว่าไม่ได้จ้างบริษัทมาทำประชาสัมพันธ์ให้รองนายกฯ 
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เพจ Trip & Treat ได้ออกมาชี้แจงว่าโครงการเทศกาลสภาพภูมิอากาศ (Climate Festival) ในฐานะองค์กรอิสระภาคเอกชนเป็นผู้จัดงาน Climate Festival เพื่อรณรงค์การใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ และสร้างสังคมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ สำหรับการจัดกิจกรรมปลูกป่าที่ห้วยตึงเฒ่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ได้มีการจ้างนายฌอน บูรณะหิรัญ มาร่วมกิจกรรมปลูกป่าที่ห้วยตึงเฒ่า จ.เชียงใหม่ จริง แต่คลิปวีดิโอของฌอนอยู่นอกเหนือจากขอบเขตการจ้างงานที่ระบุไว้
ทั้งนี้ ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ มีการเปิดระดมทุนระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-1 พ.ค. เพื่อช่วยแก้ปัญหาไฟป่าภาคเหนือและโควิด-19 ในเวลาต่อมาได้มีการฟ้องดำเนินคดีเกี่ยวกับเงินที่ฌอน เปิดรับบริจาค เพราะมีการอ้างว่าได้นำไปใช้บูทโพสต์คลิปของตัวเองด้วยจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการขุดคุ้ยถึงการทำอาชีพไลฟ์โค้ชของเขาต่อเนื่อง ว่าเป็นการแสแสร้งแต่งเรื่องประวัติตัวเองในทำนองต้มคนดูเพื่อหารายได้หรือไม่
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/OqzF4TzLjfk

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ