กกร.เสนอมาตรการสู้โควิด แนะต่อเวลาคนละครึ่งอีก 3 เดือน เพิ่มเงินเป็น 5 พัน

เศรษฐกิจ

กกร.เสนอมาตรการสู้โควิด แนะต่อเวลาคนละครึ่งอีก 3 เดือน เพิ่มเงินเป็น 5 พัน

โดย

7 ม.ค. 2564

14.1K views

วันที่ 6 ม.ค. นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยว่า

การประชุม กกร.นัดแรก ปี 2564 เห็นตรงกันให้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 1.5% ถึง 3.5% ภายใต้สมมติฐานหากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2% ถึง 4% เช่นเดียวกับประมาณการการส่งออกในปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3% ถึง 5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1%

ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะช้ากว่าที่คาดไว้เดิม รวมถึงปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ และการใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท ในการพยุงเศรษฐกิจ

พร้อมขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่นโยบายเหมาเข่ง เช่น การต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท ไปอีก 3 เดือน

มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดค่าไฟ 5% รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Asset Warehousing ซึ่งคือการซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีมาพักหนี้ให้ชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็น NPL และการใช้เครื่องมือของ บสย. อย่างมีประสิทธิภาพ

ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวไม่ให้แออัด เพื่อระงับการแพร่ระบาด และเร่งจับผู้กระทำผิดทั้งบ่อนการพนัน และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คน

เร่งรัดเรื่องวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลา และมีปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการกระจาย การขนส่ง และฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม พร้อมเร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลง RCEP ในการประชุมรัฐสภา เพื่อให้ข้อตกลงที่ลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย.63 มีผลบังคับใช้กลางปีนี้ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าด้านการส่งออกจะยังไม่เป็นบวกในช่วงไตรมาสแรก ด้วยสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดทั่วโลก การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ถ้าระวางสูง และเงินบาทที่แข็งค่า

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Z3yLZz6hD4k

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ