ยกระดับคุมโควิด จ่อประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด มีผล 4 ม.ค.นี้ ยันไม่ใช่ล็อกดาวน์

สังคม

ยกระดับคุมโควิด จ่อประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด มีผล 4 ม.ค.นี้ ยันไม่ใช่ล็อกดาวน์

โดย

3 ม.ค. 2564

10.2K views

วันที่ 2 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ช่วงหนึ่งกล่าวว่า พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบนี้ทุกวันก็จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ก็กราฟก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะผู้ติดเชื้อหลายคนทราบดีว่าตนเองได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงการติดเชื้อ แต่ไม่ยอมกักตนเอง หรือไม่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น หรือเข้าไปปรึกษาแพทย์
ทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังผู้อื่นในสถานที่ต่าง ๆ และยังมีกิจกรรมลักลอบมั่วสุมโดยผิดกฎหมายโดยเฉพาะการพนันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการระบาด นอกจากนั้นยังมีการมั่วสุมแบบเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งอีกด้วย
สำหรับข้อสรุปจากการประชุม ศบค. และ ศปก.สธ. การระบาดรอบใหม่ที่น่าจับตามองคือกลุ่มก้อนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเริ่มกระจายหลายพื้นที่ และเริ่มมีผู้เสียชีวิต โดยไม่สามารถหาความเชื่อมโยงจากศูนย์กลางการระบาดเดิมได้ ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะมีการแพร่กระจายโรคอีกหลายเท่าตัวและแพร่ระบาดไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นจะต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรค และมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นรวดเร็ว ให้มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ
ที่ประชุมมีความเห็นตรงกัน ที่จะต้องนำเสนอ ศบค. ให้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทรบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง และกรุงเทพฯ
พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี พังงา
ที่เหลืออีก 38 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด และจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามเห็นชอบ หากลงนามประกาศมีผลวันที่ 4 มกราคมนี้ ถึง 1 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว และย้ำว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องกักตุนอะไร แต่เป็นการควบคุมให้ผู้ไม่ร่วมมือ ทำตามให้มากที่สุด คือจำกัดเวลาเปิดปิดสถานประกอบการ ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฏหมาย หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์ ให้มีการทำงานแบบ work from home ทั่วทั้งพื้นที่ที่ ศบค. กำหนด มีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด เร่งการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรค
แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็จะมีการเพิ่มระดับมาตรการ แต่ยังจะไม่ใช่การล็อกดาวน์ หรือการประกาศเคอร์ฟิว เพราะที่ผ่านมาแม้มีการใช้ยาแรงก็มีคนที่ตั้งใจกระทำความผิด แต่คนเดือดร้อนเป็นคนทั่วไปที่ต้องลำบาก และมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีความจำเป็นในการวางมาตรการไม่ให้คนเคลื่อนที่มาก เพราะถ้าเคลื่อนไปจะมีการระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางข้ามจังหวัด ก็ไม่ควรเดินทาง เพราะจะทำให้เชื้อแพร่ออกไป พื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่ยกระดับมาตรการขึ้น แม้ว่าเดิมจะมีพื้นที่สีแดงไม่มากแต่เราคาดว่าจะมีการแพร่ระบาดมาก ดังนั้น พื้นที่สีแดงจะต้องวางมาตรการทางสังคมสูงสุด คงจะมีการปิดสถานประกอบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานบันเทิง ร้านอาหาร ก็จะให้เอากลับบ้าน แต่ยังไม่ได้ห้ามการเดินทาง ยังสัญจรได้ แต่หากจะข้ามจังหวัดในส่วนที่เป็นสีแดง ก็จะมีมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัด 
ส่วนที่เป็นสีส้มวางมาตรการ แต่เราไม่อยากปิดทั้งประเทศ จึงดำเนินการในลักษณะบัฟเฟอร์โซน (Buffer zone) ไม่ให้โซนสีแดงเคลื่อนไปโซนสีเหลืองได้ ซึ่งจะมีจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงภาคใต้บางจังหวัด เรื่องของมาตรการก็จะน้อยกว่าโซนสีแดง แต่การเดินทางก็จะไม่คล่องตัว อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการใน 4 สัปดาห์ คาดว่าจะควบคุมเชื้อได้
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่ยกระดับขึ้นมานั้น อย่างพื้นที่ควบคุมสูงสุด จะมีการจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ และปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหารที่พบผู้ติดเชื้อ มีคนรวมกันไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งมาตรการก็จะเป็นห้ามรับประทานในร้าน แต่ให้ซื้อไปกินที่บ้าน และขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นจำเป็นจริง ๆ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ต้องไปทำงานข้ามจังหวัดก็ทำได้ หากไม่จำเป็นจะไม่อนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัด สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอน ให้ทำรูปแบบออนไลน์ เป็นต้น
โดยห้วงเวลาในการดำเนินการจะใช้เวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งตามหลักทางการแพทย์และสาธารณสุขคือ 2 เท่าของระยะฟักตัวของโรค เราคาดว่าเป็นระยะที่เราจะควบคุมโรคได้ หาก ศบค.เห็นชอบก็จะกำหนดในช่วงวันที่ 4 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ ส่วนพื้นที่สีส้มก็จะมีมาตรการแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับตนเอง อย่างพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่สีแดงอาจใช้มาตรการเหมือนกันก็ได้ ส่วนพื้นที่สีเหลืองเฝ้าระวังสูงสุดจะลดหลั่นลงไป แต่มาตรฐานต้องระวังพื้นที่อย่างสูงสุด โดยจะมีการออกเป็นมาตรการต่าง ๆ ต่อไป
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/qEUTKU8ZtYg

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ