ไล่เรียงไทม์ไลน์ "วิกฤตการเมือง จุดเปลี่ยนประเทศ"

เลือกตั้งและการเมือง

ไล่เรียงไทม์ไลน์ "วิกฤตการเมือง จุดเปลี่ยนประเทศ"

โดย

31 ธ.ค. 2563

1.5K views

เรื่องใหญ่ที่สุดของข่าวการเมืองปีนี้ต้องยกให้สถานการณ์การชมนุม ที่กลายเป็นวิกฤตของประเทศ สาเหตุของวิกฤตนี้เกิดจากอะไร จะมีแนวทางออกจากวิกฤตนี้อย่างไร ?
การชุมนุมที่ยืดเยื้อมากว่า 4 เดือนของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และแนวร่วม ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายมิติ และเกิดเป็นวิกฤตของชาติ ที่หลายฝ่ายค่อนข้างจะมองตรงกันว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ "รัฐธรรมนูญ 2560" ซึ่งค่อย ๆ บ่มเพาะประเด็นปัญหามาเรื่อยๆ และมาระเบิดในปีนี้
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคลอดออกมาท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังขา และเมื่อเวลาผ่านไปปมปัญหาก็ค่อยๆปรากฏให้เห็นทีละปม ปมแรกคือ เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2562 สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากการระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวแต่มี ส.ส. 2 ระบบ ที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ส.ส.ปัดเศษ" ที่เกิดคำถามอย่างมาก แต่ถึงที่สุดทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ
ปมใหญ่ต่อมา คือเมื่อมีการโหวตเลือกนายกฯ และ ส.ว. 250 ที่ คสช.คัดเลือก มาร่วมโหวตยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นอีกปมที่ติดค้างในใจผู้คน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ
เริ่มปี 2563 ปมปัญหาจากรัฐธรรมนูญเข้มข้นมากขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่รวมทั้ง ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พรรณิการ์ วานิช ออกจากสนามการเมือง
หลังจากนั้น เสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ก่อตัวดังมากขึ้น จนกระทั่งกลุ่มนักศึกษานัดออกมาชุมนุมตัวเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ในวันที่ 18 กรกฎาคม พร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยุบสภา / หยุดคุกคามประชาชน / ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเมื่อชัดเจนว่า "จุดติด" ก็มีการนัดชุมนุมอย่างต่อเนื่อง พร้อมข้อเรียกร้องที่ถูกมองว่า "ทะลุเพดาน" 
จนฝ่ายรัฐต้องเพิ่มความเข้มข้นในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การสลายการชุมนุม และดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม แต่ดูเหมือนว่ายิ่งฝ่ายรัฐใช้ไม้แข็ง เหมือนยิ่งเติมเชื้อเพลิงเข้าไปกองไฟ และยังทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันของ 2 ฝ่าย
สุดท้ายรัฐบาลจึงพยายามใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ปัญหา ด้วยการยอมเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้อง รับหลักการให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกโดยเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วม แต่เนื่องจากฝ่ายผู้ชุมนุมยังไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่รับหลักการร่างแก้ไขฉบับที่ประชาชนร่วมเสนอ จึงยังมีการนัดเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และปฏิเสธเข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์
ฝ่ายผู้ชุมนุมมองว่าอาจเป็นการซื้อเวลา เพราะแม้รัฐเหมือนจะมีท่าทีประนีประนอม แต่กลับบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะมาตรา 112 ที่ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง จนล่าสุดมีผู้ถูกดำเนินคดีตามาตรดังกล่าวแล้วประมาณ 30 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน
ทั้งนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้ง อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, ต่างมองเห็นตรงกันว่า สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน เพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ ไม่ให้ถอยหลังเข้าสู่วงจรแบบเดิมๆ แล้วจบปัญหาด้วยการรัฐประหาร
ชมผ่านยูทูบที่นี่ : https://youtu.be/ECnbjMXRi5U

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ