'อภิสิทธิ์' เสนอทางออกประเทศ เผยถ้าวันนี้เป็นนายกฯจะแก้ปัญหาอย่างไร?

เลือกตั้งและการเมือง

'อภิสิทธิ์' เสนอทางออกประเทศ เผยถ้าวันนี้เป็นนายกฯจะแก้ปัญหาอย่างไร?

โดย

31 ธ.ค. 2563

11.9K views

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอทางออกแก้วิกฤตประเทศ ขอความร่วมมือ ส.ว. ร่วมแก้ รธน. แนะเปิดเวทีวิชาการ ถกประเด็นข้อสงสัย เกี่ยวกับสถาบัน 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองวิกฤตประเทศว่า สถานการณ์ประเทศน่าเป็นห่วง เพราะในสภาพของโลกปัจจุบัน เหมือนกับว่า 2 ฝ่าย อยู่ในโลกตัวเอง มีความคิดความเชื่อของตัวเองที่ยืนยันในกลุ่มคนที่คิดเหมือนกัน แต่ตรงกันข้ามไม่สามารถทำความเข้าใจกับความคิดของอีกฝ่ายได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาทั้งหมดถ้าไม่สามารถเริ่มต้นให้มาพูดคุยกันได้ด้วยเหตุผล ให้เกียรติซึ่งกันและกัน คงเป็นเรื่องยาก
เพราะการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจรักษาความสงบได้ชั่วคราว ไม่ได้บอกว่าข้างมากข้างน้อย แต่ถ้ามีคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความคิดเห็นคาดหวังแตกต่างไปจากเดิม มีคำถามที่ต้องการคำตอบ แต่ไม่มีการตอบสนองพูดคุยกัน ในที่สุดปัญหานี้ไม่สามารถที่จะหายไปได้  ซึ่งการพูดคุยมีหลายวิธี แต่อย่างน้อยที่สุดต้องสามารถแสดงให้อีกฝ่ายมีความรู้สึกว่า อีกฝ่ายมีความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับหนึ่ง ในปัจจุบันยังไม่เห็นการแสดงออกของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง
ส่วนจะให้มีพูดคุยระหว่างแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมกับผู้นำประเทศ เหมือนสมัยตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่ มองว่าสถานการณ์ต่างกัน และรูปแบบไม่มีสูตรสำเร็จ เพียงแต่ในปัจจุบัน ประเด็นข้อเรียกร้องมีอยู่ 2-3 ประเด็น คือ 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ 3. สิทธิเสรีภาพและการบังคับใช้กฎหมาย ทั้ง 3 เรื่องสามารถหาเวทีรูปแบบ หรือการแก้ไขปัญหาที่น่าจะมีจัดร่วมกันได้ แต่ต้องพร้อมที่จะเปิดใจพูดคุยกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน
ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์โดยมีตัวแทนแต่ละฝ่ายเข้าร่วม ปัญหาคือไม่สามารถดึงแต่ละฝ่ายเข้าร่วมได้ ซึ่งเข้าใจว่าปัญหาพื้นฐานยังไม่มีใครทราบ ว่ากรรมการ หรือเวทีนี้สามารถพูดเรื่องอะไรได้บ้าง ถ้าพูดแล้วจะส่งผลอย่างไรกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เพราะถ้าไม่มี 2 คำตอบนี้ เข้าใจดีว่าเหตุใดบางฝ่ายไม่พร้อมจะเข้าร่วม ปัญหาไม่ใช่เสียงข้างมากแต่พร้อมจะพูดคุยใน 3 ประเด็นที่เป็นปมปัญหาหรือไม่ และนำไปสู่การปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เข้าใจว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา ไม่ครบทุกฝ่าย ฝ่ายที่เข้าไปแล้ว ต้องคิดและหาวิธีการ สร้างความเชื่อมั่น และไว้วางใจให้ฝ่ายที่ยังไม่เข้ามาร่วม มากกว่าจะไปทำงานโดยลำพัง
"สำหรับตน รูปแบบการคุยไม่สำคัญ เท่ากับ 3 ประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้อง จะมีวิธีการใด ที่จะแก้ปัญหา เช่นกรณีการบังคับใช้กฎหมาย หรือสิ่งที่ผู้ชุมนุม บอกว่า มีการคุกคามสิทธิเสรีภาพ จะเห็นชัดว่าการบังคับใช้กฎหมายมีแต่ข่าวจะแจ้งข้อกล่าวหา จับกุม คุมขัง ประกันตัววนเวียนเป็นวงจรอยู่แบบนี้ ซึ่งควรจะมีนโยบายที่ออกมาชัดเจน
เช่น คดีที่เยาวชนฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จำเป็นต้องดำเนินการต่อหรือไม่ เมื่อสถานการณ์ผ่านพ้นไปและไม่มีเหตุอะไร หรือใครที่ต้องเผชิญกับหลายคดี จะมีวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้ไม่รู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง และมาตรา 112 ที่มีความละเอียดอ่อน ก็ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน เพราะก่อหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า เป็นเรื่องของตำรวจ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้เกิดความมั่นใจ ว่า นโยบายของรัฐบาล กับ ส.ว. หรือนายกรัฐมนตรี พูดคุยผลักดัน ว่าจะแก้ในประเด็นใดได้บ้าง"
ทั้งนี้ เมื่อถามย้ำ ถ้าวันนี้เป็นนายกรัฐมนตรีจะแก้ปัญหาอย่างไร นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะแนวความคิดและจุดยืนทางการเมืองของตน ไม่ตรงกับ พลเอกประยุทธ์ สำหรับตน ในแง่ของการพูดคุยก็จะเริ่มต้นถ้าจะไม่ให้มีการชุมนุม สร้างความเดือดร้อน หรือใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย กระทบความรู้สึกคนหมู่มาก เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะคุยกับแกนนำ ทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่า ชุมนุมรูปแบบไหนที่ทำได้ โดยไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพ
ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญก็จะผลักดัน เป็นนโยบายรัฐบาล ขอความร่วมมือจาก ส.ว. อย่างตรงไปตรงมา ว่าจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร. และบางมาตราในบทเฉพาะกาล ที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ก็จะผลักดันให้มีการแก้ไขทันที ส่วนเรื่องสถาบัน ก็ควรจะมีเวทีลักษณะคล้ายทางวิชาการ นำประเด็นที่เป็นข้อสงสัย และคำถาม ผู้เกี่ยวข้องมาคุยด้วยเหตุผล และต้องไม่มีการแสดงออกในลักษณะที่ไม่เคารพซึ่งกันและกัน ลดอารมณ์ของทุกฝ่ายไม่ให้มีการปลุกระดม สร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ