1 ปี โควิด ถล่มโลก! สร้างหายนะทางเศรษฐกิจ เสียหายหนักกว่าต้มยำกุ้ง

เศรษฐกิจ

1 ปี โควิด ถล่มโลก! สร้างหายนะทางเศรษฐกิจ เสียหายหนักกว่าต้มยำกุ้ง

โดย

30 ธ.ค. 2563

6.3K views

1 ปี โควิด-19 ถล่มโลก  สร้างหายนะทางเศรษฐกิจ เสียหายหนักกว่าต้มยำกุ้ง การท่องเที่ยวและการส่งออกดำดิ่งเหว คนตกงานทะลุ 80 ล้านคน ขณะที่ไทยได้รับการยอมรับจัดการโควิดสำเร็จ แต่ก็แลกกับเศรษฐกิจที่พังยับเยิน
หลังจากโควิด-19 ระบาด ทั่วโลกประกาศล็อกดาวน์ ส่งผลให้ไทยที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศเป็นหลัก เศรษฐกิจพังทันที สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนนับหมื่นเข้า-ออก กลับกลายเป็นเงียบเหงา แทบจะเป็นสนามบินล้าง เครื่องบินรุ่นต่างๆ จอดต่อแถวกันยาวเหยียด ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวันที่ฟ้าปิด
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ได้เปิดมุมมองว่า อุตสาหกรรมการบินจะสูญเสียเงินสด 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 และจะยังคงสูญเสียเงินอีกประมาณ 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ภายในปี 2021 ท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า
ขณะที่ Cirium บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเดินทางอากาศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 มีสายการบินพาณิชย์ 43 แห่ง ระงับการให้บริการอย่างสิ้นเชิงแล้ว รวมถึงสายการบินนกสกู๊ตด้วย ส่วนการบินไทยนั้น ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเร็วขึ้น รอวันคืนชีพในวันฟ้าเปิด
ภาคการท่องเที่ยวของไทย คิดเป็น 18% ของจีดีพี มีคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 6 ล้านตำแหน่ง ดังนั้นเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเป็น 0 ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรม, ร้านอาหาร, บริษัททัวร์, ไกด์, รถทัวร์ พังยับเยินทั้งหมด และมีแรงงานกว่า 1.6 ล้านคน ที่ต้องตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว
โควิด-19 ยังทุบส่งออกไทยร่วงดิ่งเหว เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ดำดิ่งติดลบหนักถึง -23.17% ต่ำสุดในรอบ 131 เดือน ส่งผลรวมในครึ่งปีติดลบไปถึง 7% และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีนี้ จะยังคงติดลบอยู่ที่ 9% ส่งผลกระทบในวงกว้าง โรงงานอุตสาหกรรมต้องประกาศหยุดงานชั่วคราวเกือบ 5,000 แห่ง หรือบางรายอาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง ทำให้มีแรงงานตกงานแล้วกว่า 3 ล้านคน
พิษโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท จากมูลค่าการท่องเที่ยวของไทย ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท นำมาสู่การกู้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จำนวน 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนหนุนให้กู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจฐานราก และรองรับกับแรงงานที่ตกงาน
อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งปีที่ผ่านมานี้ ทางรัฐบาลได้พยายามที่จะผลักดันหลายมาตรการ เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะโครงการที่ถูกใจคนทั่วประเทศอย่าง "คนละครึ่ง"
ทั้งนี้ วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2020 กำลังบอกเราหลายอย่าง และในปี 2021 เป็นต้นไป การขับเคลื่อนเพื่อที่จะอยู่รอดของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ถื่อเป็นเรื่องที่เราต้องให้กำลังใจและสู้กันต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ