จ่อเพิ่มโรค 'เบาหวาน-ความดัน-ลมชัก' ห้ามทำใบขับขี่ ต้องให้แพทย์ประเมิน ออกใบรับรองแพทย์

เศรษฐกิจ

จ่อเพิ่มโรค 'เบาหวาน-ความดัน-ลมชัก' ห้ามทำใบขับขี่ ต้องให้แพทย์ประเมิน ออกใบรับรองแพทย์

โดย

29 ต.ค. 2563

13.4K views

กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงคมนาคมเรื่องการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับภายใน 120 วัน หรือภายในประมาณวันที่ 20 ก.พ. 64 ว่า กฎกระทรวงนี้มีหลักสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.การออกใบรับรองแพทย์ประกอบการขอรับใบอนุญาตขับรถหรือขอใบขับขี่


โดยทางกรมการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างหารือแพทยสภา เพื่อจัดทำรายละเอียดให้สอดรับกับกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้ใบรับรองแพทย์ต้องแสดงว่าไม่มีโรคประจำตัว หรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่า อาจเป็นอันตรายขณะขับรถหรือมีอาการผิดปกติทางจิต หรือมีโรคที่ไม่เหมาะสมกับการขับรถ

ซึ่งเดิมกำหนด 5 โรคต้องห้ามได้แก่

1.โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่น่ารังเกียจแก่สังคม

2.โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ

3.โรคเรื้อน

4.โรคพิษสุราเรื้อรัง

5.โรคติดยาเสพติดให้โทษ

โดยกำลังพิจารณาเพิ่มโรคต้องห้าม อาทิ โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคอารมณ์สองขั้ว ออทิสติก หรือตัวเตี้ยผิดปกติ 90 ซม.ซึ่งแพทย์ที่ต้องออกใบรับรองแพทย์ ต้องเป็นผู้ประเมินสภาพทางด้านร่างกายของผู้ขอใบรับรองแพทย์

นอกจากนี้แพทย์ต้องเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันเพื่อตรวจสอบผู้ขอรับใบรับรองแพทย์ว่า มีโรคประจำตัวหรือเคยเป็นโรคที่เป็นอันตรายต่อการขับรถหรือไม่ เพราะบางครั้งผู้มาขอใบรับรองแพทย์อาศัยอยู่หลากหลายแห่ง ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ เพื่อทำให้การออกใบรับรองแพทย์มีความสมบูรณ์มากที่สุดไม่เป็นอันตรายขณะขับรถ เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน

คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ให้ทันภายใน 120 วัน ซึ่งกรณีขอใบรับรองแพทย์นี้จะใช้กับรถทุกประเภทที่มารับใบขับขี่ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ (จยย.) และ รถโดยสารสาธารณะ ขณะเดียวกันอาจให้นำใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าเหมาะสมกับการขับรถอย่างปลอดภัยมาแสดงเพิ่มเติม

 นอกจากนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จะประเมินความพร้อมด้านร่างกายของผู้ขอต่อใบขับขี่ ถ้าสังเกตหรือประเมินแล้วพบว่ามีสภาวะด้านร่างกายไม่พร้อม มีความเสี่ยงต่ออันตรายในการขับรถ จะนำบุคคลนั้นไปทดสอบการขับรถเพิ่มเติมจากเดิมการขอต่อใบขับขี่ต้องทดสอบสมรรถภาพทางด้านร่างกาย เช่น ตาบอดสี และ เข้าอบรมการขับรถจะต่อใบขับขี่ได้ทันที

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/1PCnwfn3jDg

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ