เอกชนห่วงสถานการณ์แรงงาน ซึมยาวถึงปี 65 หลังสถานะการเงินภาคธุรกิจยังไม่ฟื้น

เศรษฐกิจ

เอกชนห่วงสถานการณ์แรงงาน ซึมยาวถึงปี 65 หลังสถานะการเงินภาคธุรกิจยังไม่ฟื้น

โดย

28 ต.ค. 2563

1.1K views

รองประธานสภานายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย รับสถานการณ์แรงงานปีหน้ายังน่าห่วง หลังสถานะการเงินภาคธุรกิจยังไม่ฟื้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากสถานการณ์การเมืองและการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศอีกครั้ง ขณะที่สถานการณ์ส่งออก ยังไม่ฟื้นตัว ว่า เป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตา เพราะขณะนี้ภาคเอกชนยังคงมีปัญหาสภาพคล่อง และเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะส่งผลพวงไปยังการจ้างงานใหม่ให้ชะลอตัวลง โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2564 คาดว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่เติมเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 500,000 คน
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 3 จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทั้งผู้ที่สมัครใจลาออก-ถูกเลิกจ้าง, แรงงานนอกระบบ, นักเรียน-นักศึกษาจบใหม่ รวมกันประมาณ 3.160 ล้านคนยังไม่รวมแรงงานต่างด้าวในช่วงเดียวกันลดลงถึง 9.86 แสนคน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานซึ่งภาวะนี้จะต่อเนื่องไปอย่างน้อย 2 ปี
ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่าแรงงานที่เคยมีงานทำ แต่ตกงานมีจำนวนประมาณ 2.526 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และ คนว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ประเมินว่าไตรมาส 3 มีจำนวนประมาณ 2.85-2.90 ล้านคน และ ในปี พ.ศ.2564 จำนวนจะใกล้เคียงกับปีนี้ โดยคาดว่าตลาดแรงงานจะหดตัวอย่างน้อยไปถึงปี พ.ศ.2565 ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในภาคบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนพยายามพยุงสถานการณ์ โดยอยู่ในภาวะชะลอการเลิกจ้าง และยังไม่มีแนวโน้มการจ้างงานใหม่ ส่วนตำแหน่งงาน 1 ล้านตำแหน่งในงาน จ๊อบส์ เอ็กซ์โป ที่ผ่านมา กว่า 900,000 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งคนไทยไม่ทำ เช่น งานก่อสร้าง งานประมง เป็นต้น
รับชมผ่านยูทูปได้ที่นี่ : youtu.be/ZRNwN012fDs

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ