นานาชาติรุมประณาม! รัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงสลายการชุมนุม ละเมิดสิทธิประชาชน

ต่างประเทศ

นานาชาติรุมประณาม! รัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงสลายการชุมนุม ละเมิดสิทธิประชาชน

โดย

18 ต.ค. 2563

15.8K views

น.ส.ราวินา ชัมดาซานิ โฆษกสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่นครเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยแสดงความกังวลเรื่องที่ทางการไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ชี้จะส่งผลเสียต่อการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
โดย น.ส.ราวินาระบุว่า การประท้วงดำเนินไปอย่างสันติเป็นส่วนใหญ่ โดยรวมแล้วทางการได้เคารพพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ แต่เรามีความกังวลเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการชุมนุมในวันก่อนหน้านั้น ซึ่งที่จริงเป็นการชุมนุมโดยสงบเป็นส่วนใหญ่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการรับรองโดยพันธสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นภาคี
เรามีความกังวลเรื่องการควบคุมตัวและจับกุมนักกิจกรรม รวมทั้งผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหลายคน ซึ่งรวมถึงผู้เข้าร่วมในการประท้วงตัวเลขล่าสุดที่เรามีคือมีผู้ถูกจับกุม 57 คน ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม ในจำนวนนี้ 6 คนได้รับการปล่อยตัวแล้ว และที่เหลือยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจจนถึงขณะนี้ เรายังมีความเป็นห่วงอย่างยิ่งเรื่องการตั้งข้อหาร้ายแรงหลายข้อหา รวมถึงข้อหาปลุกระดมมวลชน ต่อบุคคลที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองอย่างสันติ
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองว่าจะไม่มีผู้ใดตกเป็นเป้าหมาย ถูกคุมขัง หรือถูกตั้งข้อหาร้ายแรง ต่อการที่พวกเขาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและแสดงออกโดยสันติ พร้อมขอรับรองว่าจะมอบการคุ้มครองทางสิทธิและกฎหมายอย่างเป็นระบบ สำหรับผู้ที่ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวทุกคน รวมถึงการติดต่อกับทนายความและครอบครัวได้ตลอดเวลา
ขณะที่ทางด้าน มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
“การใช้กำลังเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบเมื่อคืนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิงกับหลักการตามกฎหมายที่ได้รับการยอมรับ ตามหลักการความจำเป็น และหลักการที่ได้สัดส่วนอย่างที่ทางการไทยอ้าง
“การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารระคายเคืองและสีย้อม ไม่เพียงอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การใช้สีผสมในน้ำยังเป็นการกระทำที่ไม่เลือกเป้าหมาย และอาจนำไปสู่การพุ่งเป้าเพื่อจับกุมโดยพลการต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ผู้สื่อข่าว และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งอาจถูกน้ำฉีดใส่จนเปื้อนสี
“ในการควบคุมการชุมนุม ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย
“เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้”
ข้อมูลพื้นฐาน
ก่อนจะมีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ตอนห้าโมงเย็นของวันศุกร์ ซึ่งการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมต่อเนื่องจากวันก่อน ที่มีผู้เข้าร่วมในบริเวณเดียวกันประมาณ 10,000 คน ตำรวจได้สั่งปิดถนน ติดตั้งแนวกั้น และติดตั้งลวดหนามหลายชั้น เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนมาชุมนุมอย่างสงบได้อีกในบริเวณสี่แยกใจกลางกรุงเทพฯ
ส่งผลให้ผู้ชุมนุมประกาศย้ายจุดชุมนุมมาอีกที่แยกหนึ่ง บริเวณสี่แยกปทุมวัน ในช่วงค่ำ ตำรวจได้ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงหลายครั้งเพื่อพยายามสลายการชุมนุม ซึ่งคาดว่ามีผู้เข้าร่วมหลายพันคน
จากคำแถลงของโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ประท้วงเจ็ดคนถูกจับและถูกควบคุมตัว โฆษกยังยืนยันว่า น้ำที่ฉีดผสมสารระคายเคืองและสีน้ำเงิน “เพื่อระบุตัวผู้ประท้วงที่จะถูกดำเนินคดีต่อไป”
ในวันเดียวกัน นายกิตติ พันธภาค นักข่าวประชาไทถูกจับ ถูกยึดอุปกรณ์ ถูกควบคุมตัว และถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา ทั้งนี้ตามแถลงการณ์ของประชาไท
ในวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2563 ทางการไทยประกาศห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นเวลา 30 วัน ในเขตกรุงเทพฯ คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อยุติการชุมนุมที่เกิดเพิ่มขึ้น ประกาศดังกล่าวยังห้าม
ทั้งยังเป็นคำสั่งห้ามการตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารหรือข้อความออนไลน์ที่ “อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว” ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าเป็นประกาศที่ “รุนแรง” และเน้นย้ำข้อเรียกร้องต่อทางการไทยให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุม และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบโดยพลการ
องค์การสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกแถลงการณ์กรณีที่ตำรวจไทยยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสีย้อมสีน้ำเงินและสารเคมีจากแก๊สน้ำตาโดยไม่จำเป็น สลายกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ ภายใต้อำนาจสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในกรุงเทพมหานคร เป็นการละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า รัฐบาลไทยกำลังปราบปรามเป็นวงกว้างเพื่อยุติการประท้วงของนักศึกษา โดยส่งตำรวจไปสลายด้วยความรุนแรง และการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการเปิดไฟเขียวให้ตำรวจกระทำการละเมิดสิทธิโดยไม่ต้องรับโทษ
ฮิวแมนไรต์วอตช์ยังอ้างแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายว่า ควรใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบร้ายแรงเท่านั้น ที่มีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือทำลายทรัพย์สินเป็นวงกว้าง และการใช้ ไม่ควรเล็งเป้าหมายไปที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลในระยะใกล้ เนื่องจากเสี่ยงตาบอดถาวรหรือบาดเจ็บทุติยภูมิ หากถูกแรงดันจากปืนฉีดน้ำอย่างหนัก
นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจทางการไทยครอบคลุมการละเมิดสิทธิในการแสดงออกอย่างอิสระและเสรีภาพสื่อ รวมถึงอภิปรายประเด็นการเมืองในรัฐสภา
ประเทศไทยให้สัตยาบันกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เมื่อปี 2539 เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพการแสดงและกลุ่มชุมนุมอย่างสันติ แต่ทางการไทยเซ็นเซอร์และกลับห้ามวิพากษ์วิจารณ์
หลายปีที่ผ่านมานักเคลื่อนไหวและผู้ต่อต้านหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาอาญาร้ายแรง เช่น การปลุกระดมอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และมาตรา 112 ภายหลังแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ นอกจากนี้ 5 เดือนที่ผ่านมา ทางการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อช่วยควบคุมการระบาดของโควิด -19 เป็นข้ออ้างห้ามชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและคุกคามนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย
"กลุ่มผู้ประท้วงในไทยเรียกร้องประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนและปฏิรูปอย่างสันติ รัฐบาลที่เกี่ยวข้องและสหประชาชาติควรเรียกร้องต่อสาธารณชนเพื่อยุติการปราบปรามทางการเมืองโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทันที" นายอาดัมส์กล่าว
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เช่นเดียวกัน มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้อาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดตามประกาศดังกล่าว เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณสี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ
กสม. มีความกังวลและห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความอ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทย แม้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นการชุมนุมที่ต้องห้ามตามข้อกำหนดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
กสม. เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวยังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุถึงขั้นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ 
ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการที่ไม่สามารถละเมิดได้ (non-derogable) ของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณา ดังนี้
1.รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรใช้มาตรการที่รุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งใช้แนวทางสันติวิธีในการเจรจาแก้ไขปัญหา
2.รัฐบาลไม่พึงใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุม และต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเด็กในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนไม่กระทำการใดที่จะมีผลกระทบต่อสวัสดิภาพ พัฒนาการ และความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจของเด็ก ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการรับรองไว้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) 
3.รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติควรใช้กระบวนการของรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง และให้หลักประกันว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทุกกลุ่มจะได้รับการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การยุติข้อพิพาทโดยเร็ว
4.รัฐบาลควรเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากปฏิบัติการการสลายการชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสั่งให้ปฏิบัติการ รวมทั้งดูแลให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวจากการชุมนุมโดยสงบได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม 5.การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ทุกฝ่ายควรเคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการใดๆ ที่สร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง และดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ทั้งนี้ กสม. ขอให้ทุกฝ่ายได้ใช้ความอดทนอดกลั้น และร่วมกันแสวงหาทางออกอย่างสันติเพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดี
ญาติวีรชน 35 ได้ออกแถลงการณ์คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 2535 ประณามการสลายการชุมนุมของม็อบแยกปทุมวัน โดยระบุว่า
“บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุม กลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา คือการประกาศถึงท่าที ความคิด ลุแก่อำนาจ เปิดเผยธาตุแท้ความเป็นเผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเป็นปฏิปักษ์กับอนาคตอันศิวิไลซ์ของประเทศ ซึ่งเหล่าเยาวชนลูกหลานของพวกเราในวันนี้ พยายามร่วมกันนำเสนอ ออกแบบ อย่างสร้างสรรค์ สงบ และสันติ
ด้วยบาดแผล รอยเลือด คราบน้ำตา ที่ยังไม่เคยลบหายไปได้จากหัวใจของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 พวกเราขอประณามการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมครั้งนี้
ขณะเดียวกันขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทันที และขอให้มีการเปิดสภาวิสามัญเพื่อแก้วิกฤตและหยุดยั้งการใช้กำลังความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากนายกฯรัฐมนตรีทันที
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถหยุดยั้งการการลุอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว จึงขอเรียกร้อง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคารพต่อเสียงของประชาชนและแสดงออก ซึ่งจิตวิญญาณประชาธิปไตย เสียสละ ถอนตัวจากการค้ำอำนาจ เผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยพลัน เพื่อมาร่วมกันหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองด้วยวิธีสันติต่อไป
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535
17/10/2563”

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ