กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2562

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2562

โดย

1 ต.ค. 2563

2.5K views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2562 เป็นวันแรก
วันนี้ เวลา 8 นาฬิกา 50 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2562 เป็นวันแรก ซึ่งได้พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะต่างๆ ในภาคเช้า รวม 2,045 คน พร้อมกับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ ,พระราชทานกิตติบัตร แก่ผู้ได้รับการแต่งตั้ง เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำปี 2562 , กิตติบัตรรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ,กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี 2563 รวมถึงปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ,โท และตรี ในภาคบ่าย รวม 1,927 คน
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในภาคบ่าย ตามมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านศิลปกรรมศาสตร์ โดยประยุกต์ความรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์ กับศาสตร์อื่นๆ ในลักษณะสหสาขาวิชา ที่เป็นประโยชน์ ต่อวงวิชาการ และวิชาชีพ ตลอดจนประชาชน และประเทศชาติ
ในการนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความว่า " เมื่อกล่าวถึงวิชาความรู้ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่สองประการคือ การศึกษาเล่าเรียนและการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ การที่บัณฑิตทั้งหลาย ได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียน สำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาบัตร รับรองวิทยฐานะนี้ ได้ชื่อว่ามาแสวงหาทรัพย์ ปราชญ์แต่ก่อนสรรเสริญ วิชาความรู้ว่า เป็นทรัพย์ที่ใช้ไม่หมดสิ้น ผู้อื่นแย่งชิงไปไม่ได้ เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่า ทรัพย์คือความรู้นี้เป็นของประเสริฐจริง สติปัญญาความรู้ของมนุษย์นี้ ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีมากขึ้น ไม่มีวันหมดสิ้นเหมือนทรัพย์สินเงินทอง หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เพราะฉะนั้น ผู้เป็นบัณฑิต จึงพึงหาทรัพย์ คือ วิชาความรู้นี้ไว้ให้มาก ไม่ควรหยุดหาความรู้ ข้อนี้จะเป็นพื้นฐานอันมั่นคง ในการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป คำว่าใช้ความรู้ให้เป็น เป็นเรื่องสำคัญ ความรู้ที่มีมาก ใช้ไม่เป็นก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ที่ว่าใช้ให้เป็นประโยชน์ คือต้องมีสติปัญญาเลือกใช้ความรู้ให้เหมาะแก่การณ์ กาลเทศะบุคคล รู้เหตุรู้ผลของเรื่องนี้ จะใช้ความรู้นั้นนั้นไปจัดการจึงจะใช้ความรู้ได้ถูกตรงเรื่อง ถูกต้องตามควร ไม่ผิดทำนองคลองธรรม เป็นประโยชน์ไม่ให้ร้ายแก่ตนเองและผู้อื่น อีกประการหนึ่งคือ ต้องรู้จักประสานความรู้ ต้องรู้ตระหนักว่า วิชาความรู้ของตนเองฝ่ายเดียวนั้นไม่เกิดประโยชน์ที่แท้จริงได้ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถของผู้อื่นด้วย บัณฑิตจึงต้องมีใจเปิดกว้าง รับความรู้ด้านต่างๆ เพื่อให้ทำการ หรือแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี บัณฑิตผู้รู้จักศึกษาเล่าเรียนและใช้วิชาความรู้เป็นเช่นที่กล่าวมานี้ จึงจะนับว่าเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ เป็นที่น่าชื่นชมของสถาบัน เป็นที่น่ายินดีแก่ผู้ได้คบหาสมาคม ยังประโยชน์ส่วนตน และบ้านเมืองให้ไพบูลย์สืบไปได้ "

แท็กที่เกี่ยวข้อง