ประชุม กมธ.พิจารณาร่าง รธน.นัดแรก จ่อเชิญฝ่ายค้านเข้าแจง 5 ญัตติ ยันไม่ใช่การซื้อเวลา

เลือกตั้งและการเมือง

ประชุม กมธ.พิจารณาร่าง รธน.นัดแรก จ่อเชิญฝ่ายค้านเข้าแจง 5 ญัตติ ยันไม่ใช่การซื้อเวลา

โดย

30 ก.ย. 2563

639 views

วันนี้ (30 ก.ย.) คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ที่สภามีมติให้ตั้งขึ้น ประชุมนัดแรก เตรียมเชิญพรรคร่วมฝ่ายค้านมาชี้แจงการเสนอญัตติแม้ไม่ได้ร่วมเป็นกรรมาธิการ โดยจะเชิญคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มาร่วมให้ความเห็นด้วย รวมทั้งนำร่างรัฐธรรมนูญที่ไอลอว์เสนอมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่ยังยึด 6 ญัตติหลัก ที่จะนำมาลงมติรับหลักการอย่างแน่นอน
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ มีมติแต่งตั้งให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยมีรองประธาน 6 คน ที่ปรึกษา 4 คน เลขานุการ 1 คน และโฆษก 2 คน ซึ่งจะนัดประชุมอีกครั้งภายใน 30 วัน โดยยืนยันว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้มีหน้าที่ในการพิจารณา 6 ญัตติ ที่เสนอต่อรัฐสภา ไม่ใช่การศึกษา จึงยืนยันได้ว่าจะไม่มีการซื้อเวลา แม้ว่าจะไม่มีพรรคร่วมฝ่ายค้านมาร่วม ก็จะเชิญมาชี้แจง ซึ่งนายวิรัช เปิดเผยว่าได้มีการประสานเบื้องต้นทั้งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน และสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ก็พร้อมมาชี้แจงทั้ง 5 ญัตติ นอกจากนี้จะมีการเชิญนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้นมาให้ข้อมูลด้วย แต่เบื้องต้นยังยึด 6 ญัตติเป็นหลัก และพร้อมจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ไอลอว์เสนอเข้าสู่การพิจารณาด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการไม่สิทธิ์ชี้นำเรื่องการลงมติ แต่จะแนบความเห็นประกอบแต่ละญัตติเสนอให้รัฐสภาลงมติรับหลักการเท่านั้น
นอกจากนี้นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ เสนอให้เชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาชี้แจง ถึงขั้นตอนการยื่นเพิ่ม 4 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่กระชั้นชิด และข้อกฎหมายเรื่องการลงชื่อเสนอญัตติซ้ำที่เป็นห่วงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้เชิญเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมาชี้แจงด้วย โดยนายสมชาย ยืนยันว่าการเสนอตั้งกรรมาธิการ เป็นความเห็นของวิปรัฐบาล ไม่ได้เสนอโดย สว. ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน สว.ส่วนใหญ่ก็เป็นห่วงด้วยซ้ำว่า หากมีการลงมติในวันนั้น ทั้ง 6 ญัตติก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งอาจจะเป็นการเติมเชื้อเพลิงเขาไปในกองไฟ จึงอยากให้ทุกฝ่ายกลับมาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ที่ได้ให้เวลา สว.ในการศึกษาแต่ละญัตติ
นายสมชาย เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการจะพิจารณา 6 ญัตติเป็นหลัก ไม่มีการรื้อ หรือถอนญัตติ ซึ่งต้องทำในที่ประชุมรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ สว.อาจจะเสนอร่างเพิ่มเติม หากเห็นว่าทั้ง 6 ญัตติยังไม่สมบูรณ์ โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ