เกษตรกรปลูกทิวลิปสยาม 4 สายพันธุ์ ขายรายได้ดี! - ตำปูนานึ่ง เมนูส้มตำหาทานยาก กินได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น

สังคม

เกษตรกรปลูกทิวลิปสยาม 4 สายพันธุ์ ขายรายได้ดี! - ตำปูนานึ่ง เมนูส้มตำหาทานยาก กินได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น

โดย

29 ก.ย. 2563

970 views

ศิลปินเรือไฟ ระดมแรงงานเร่งสร้าง พร้อมโชว์ในคืนวันเพ็ญออกพรรษา ผู้ว่ามั่นใจเศรษฐกิจฟื้นตัว นักท่องเที่ยวคึกคัก
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนม ว่า ในช่วงนี้ ตลอดแนวแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ตั้งแต่หน้าโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ(สันตยานันท์เดิม) ถึงหน้าวัดมหาธาตุคึกคักเป็นพิเศษ เป็นบรรยากาศของงานเทศกาลออกพรรษาของทุกปี โดยเฉพาะหน้าโรงเรียนเซนต์ยอแซฟถึงหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม มีบรรดาศิลปินเรือไฟ และแรงงานจากชุมชนหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้ง 12 อำเภอ ระดมกำลังมาร่วมสรรค์สร้างเรือไฟ เพื่อเตรียมพร้อมประกวดไหลในคืนวันเพ็ญออกพรรษา ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11
ดยปีนี้มีการส่งเรือไฟประกวดจากพื้นที่ 12 อำเภอ รวม 12 ลำ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 กันยายน-2 ตุลาคม 2563 โดยเริ่มจากวันที่ 25-29 กันยายน 2563 จะมีไหลเรือไฟโชว์ทุกคืน ส่วนไฮไลท์ของงานจะมีการประกวดไหลเรือไฟในคืนวันที่ 30 กันยายน และ 1-2 ตุลาคม เนื่องจากปีนี้มีมาตรการควบคุมโรคโควิดระบาด จึงเพิ่มวันไหลประกวดออกเป็น 3 วัน จากไหลวันเดียวในคืนออกพรรษา
บรรดาศิลปินเรือไฟจากพื้นที่ 12 อำเภอ ได้ร่วมกันสร้างเรือไฟให้มีความสวยงาม อลังการ มีทั้งแบบความคิดสร้างสรรค์ และความสวยงาม มีความยาวประมาณ 60 -80 เมตร สูงราว 20 -30 เมตร ประดับตกแต่งด้วยตะเกียงไฟ 4-5 หมื่นดวง มูลค่าการก่อสร้างลำละเกือบล้านบาท โดยลวดลายยังแสดงออกถึงการจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงสัญลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญขอจังหวัดฯ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอล ที่สำคัญในการก่อสร้างเรือไฟในแต่ละปี ชาวบ้าน ไม่ได้มุ่งเน้นถึงค่าจ้างรางวัล แต่ได้ร่วมกันแสดงออกถึงความรัก ความศรัทธาตามคติความเชื่อของคนในลุ่มแม่น้ำโขง และร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงามแต่โบราณ จึงเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดนครพนม
เกษตรกรปลูกทิวลิป สยาม 4 สายพันธุ์ ขายรายได้ดี อนาคตขยายแปลงปลูกทิวลิป สยาม เพิ่ม
แปลงปลูก ทิวลิปสยาม ถนนสายควนทัง - เขาแก้ว หมู่ที่ 1 ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ มีเกษตรกรทดลองปลูก ทิวลิปสยาม 4 สายพันธุ์ ขายรายได้ดี โดยเกษตรกรรายนี้เป็นหญิงวัย 56 ปี เป็นเกษตรกรชาวสวยงานพารา ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ นำพันธุ์ทิวลิป สยาม 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 1 ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 2 ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 3 และปทุมมาพันธุ์เชียงราย 4 จากเพชรบูรณ์ มาทดลองขยายพันธุ์ ปลูกในพื้นที่ของตัวเอง เกือบ 1 ไร่ เพื่อหารายได้เสริม นอกเหนือจากสวนยางพารา เพื่อเป็นทางเลือกให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ใช้เวลาปลูก 2 เดือน ดอกทิวลิป สยาม เริ่มออกดอก เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ชูจุดเด่นสุดทุกพันธุ์ สีสันสะดุดตา ออกดอกไว ให้ผลผลิตช่อดอกมาก ก้านช่อดอกตรง แข็งแรง อายุการใช้งานนาน สามารถประดับไว้ในกระถางและปักแจกัน
นางรัตนา วงศ์สวัสดิ์ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 163 ม.1 ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ กล่าวว่า ตนเองได้มีโอกาสไปเยี่ยมลูกสาวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งลูกสาวกับแฟนของเขาได้ปลูกทิวลิป ปทุมา สยาม 4 สายพันธุ์ ขายอยู่แล้ว จึงนำพันธุ์มาทดลองปลูกที่กระบี่ เพื่อเป็นทางเลือกให้มีอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่มขึ้น
โดยใช้พื้นที่ทดลองปลูกทิวลิป สยาม 4 สายพันธุ์ เนื้อที่เกือบ 1 ไร่ ใช้เวลาปลูกเพียง 45 วัน ทิวลิปสยาม ก็ออกดอกมาให้เห็น เต็มพื้นที่ ครบ 2 เดือนก็สามารถเก็บดอกทิวลิปสยาม ขายได้ และเป็นที่ต้องการของลูกค้า เนื่องจากดอกทิวลิปเก็บไว้ได้นานถึง 2 เดือน ในกระถาง และในแจกัน ที่มีน้ำอยู่ การดูแลช่วงเพาะปลูกก็ไม่ยุ่งยากใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก และปุ๋ยอินทรีย์ รดน้ำ ยกร่องให้เป็นหลังเต่าป้องกันน้ำท่วมขัง ติดตั้งระบบสปริงเกอร์รดน้ำให้แปลงทิวลิป สยาม ตามความเหมาะสม
โดยขายดอกทิวลิปสยาม ตามขนาด เริ่มตั้นตั้งแต่ ดอกละ 5 บาท 7 บาท 10 บาท 15 บาท และ 20 บาท มีลูกค้าเข้ามารับซื้อถึงที่ นอกจากนั้นก็โทรมาสั่งซื้อ ตามโอกาสต่างๆ ทำให้ตอนนี้มีรายได้เข้ากระเป๋าทุกวัน ทุกครั้งที่ติดดอกทิวลิปสยาม ขายครั้งละ 2,000 – 3,000 บาท มีรายได้ทุกวัน ใครมาซื้อ ดอก 2-3 ดอกก็ขาย ดอกเดียวก็ขาย ขอชมแปลงปลูกทิวลิปสยาม ให้ชมฟรี ถ่ายรูป เช็คอินฟรีไม่คิดตังค์
ตำปูนานึ่ง จานใหญ่ ราคาถูก รสชาติแซ่บนัว จัดจ้าน เมนูส้มตำหากินยาก มีให้กินได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น
ผู้ที่ชื่นชอบรับประทานส้มตำรสชาติจัดจ้านที่จังหวัดพิษณุโลก และปูนาต้มสุก จะแวะเวียนกันไปรับประทาน ส้มตำปูนา จานใหญ่ในราคาประหยัดกันที่ ร้านตำนัวเนียร์บ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก หลังจากที่ได้รับการบอกต่อถึงความอร่อย ของส้มตำระดับห้างแต่ขายในราคาชาวบ้าน ฝีมือคุณชัยณรงค์ เพ็งแฟง อายุ 41 ปี อดีตลูกจ้างสำนักงานแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก โดยในแต่ละวันบรรยากาศที่ร้านจะคึกคักไปด้วยลูกค้าทุกเพศทุกวัยที่ชื่นชอบการรับประทานส้มตำ หลากหลายเมนูจะมากันเป็นหมู่คณะและร่วมรับประทานส้มตำกันอย่างเอร็ดอร่อย
โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ตำปูนานึ่ง เมนูตามฤดูกาลในช่วงฤดูฝน ที่เปิดขายในราคา เพียง จานละ50 บาท และพิเศษจานละ 80 บาท กำลังได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากความแซ่บตามแบบฉบับของทางร้านแล้ว ปริมาณปูนึ่งที่ให้ทางร้านยังจัดเต็มใส่ให้เต็มชาม เพิ่มความคุ้มค่าให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบรับประทานปูนานึ่งอย่างมาก
ซึ่งนอกเหนือจาก ตำปูนาแล้วทางร้านยังมี เมนูส้มตำให้เลือกอีกมากมาย อาทิเช่น ตำนัวเนียร์ จานละ 50 บาท หรือส้มตำที่ใส่รวมผักหลายอย่างลงไปในครกเดียวกัน และตำเหลาทะเล เป็นต้น
คุณชัยณรงค์ เปิดเผยว่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ตนเอง ลาออกจากกงานมาเพราะมีรายได้และอนาคตไม่แน่นอน จึงอยากหาอะไรทำเป็นอาชีพหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ประกอบกับตนเอง ตำส้มตำได้ จึงเริ่มเปิดขายเป็นเพิงไม้ไผ่หลังเล็กๆอยู่ริมถนน ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านได้รับประทานกัน ช่วง 2 เดือนแรกขายไม่ดีเลย ตำส้มตำก็เปรี้ยวบ้างเค็มบ้าง ก็ไม่ย่อท้อต้องคอยปรับปรุงตามคำแนะนำของชาวบ้านในพื้นที่และเพื่อนฝูง จนกระทั่งเดือนที่ 3 เริ่มขายได้ มีลูกค้ามากขึ้น ด้วยการคิดค้นทำน้ำปลาร้าต้มสุก2 สูตร ของตนเองคือ สูตรแบบไม่เผ็ดมากกับเผ็ดน้อย จนกลายเป็นสูตรส้มตำและเมนูยำที่ถูกปากลูกค้ามาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเมนูตำปูนานึ่ง ทางร้านขายไม่แพงเพราะอยู่บ้านนอก เป็นเมนูที่เกิดขึ้นจากในช่วงฤดูฝน ชาวบ้านได้ตระเวนออกหาจับปูนาในนาข้าวได้จำนวนมาก ตนเองจึงรับซื้อปูนาจากชาวบ้านมานึ่ง วันละประมาณ 10 กิโลกรัม เพื่อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีรายได้พิเศษตามฤดูกาล นอกเหนือจากที่ตนเองมีรายได้จากการขายส้มตำแล้ว ชาวบ้านก็มีรายได้จากการขายปูนาไปด้วยกัน จึงเป็นสาเหตุทำให้ ตำปูนาของร้านตำนัวเนียร์ มีความสดใหม่ ขายได้ในราคาไม่แพง
สำหรับผู้สนใจ สามารถแวะไปลิ้มลองความอร่อยของ ส้มตำปูนานึ่ง จานใหญ่ ราคาถูก รสชาติแซ่บนัว จัดจ้าน เมนูส้มตำหากินยาก ได้ที่ร้านตำนัวเนียร์ ทางวัดเด่นโบสถ์ ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เปิดให้บริการวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ติดต่อสอบถามเส้นทางเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0993848482
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/UKvBR5xhbxo

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ