โผล่อีก! ผู้ปกครองแฉ #ครูจุ๋ม วีรกรรมเพียบ ทำเด็กผวาไม่ยอมไปโรงเรียน กุมารแพทย์แนะสอบใบอนุญาตครูพี่เลี้ยง

สังคม

โผล่อีก! ผู้ปกครองแฉ #ครูจุ๋ม วีรกรรมเพียบ ทำเด็กผวาไม่ยอมไปโรงเรียน กุมารแพทย์แนะสอบใบอนุญาตครูพี่เลี้ยง

โดย

28 ก.ย. 2563

19.6K views

แฉเพิ่มอีก ครูจุ๋มหยอดยาหม่องใส่ตาเด็ก ผู้ปกครองรวมตัวยันย้ายลูกออกจากโรงเรียน จี้แสดงความรับผิดชอบ โดยกลุ่มผู้ปกครอง นักเรียนชั้นอนุบาล 1 ที่ลูกถูกครูจุ๋ม หรือ นางสาวอรอุมา ปลอดโปร่ง ครูพี่เลี้ยง โรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์ ราชพฤก ทำร้ายร่างกาย มาเปิดใจในรายการโหนกระแส ของคุณหนุ่ม กรรชัย แฉพฤติกรรมสุดโหดของครูจุ๋ม

โดยคุณมินทร์ พ่อของน้องเทม บอกว่า ลูกชายถูกครูจุ๋มทุบหลัง ลากไปห้องน้ำ เมื่อกลับมาที่ห้องเรียนก็ถูกครูจุ๋ม เอายาหม่องน้ำหยอดใส่ตา จากคลิปจะเห็นชัดเจนว่าลูกชายโบกมือขอร้องไม่ให้ครูทำ ซึ่งคนเป็นพ่อเมื่อเห็นคลิปนี้ ยอมรับสะเทือนใจเป็นอย่างมาก
ขณะที่พ่อของน้องโชกุน เปิดใจทั้งน้ำตา โดยลูกถูกครูจุ๋มทำร้ายสารพัด ทั้งจับขังในห้องน้ำ เอาดินสอแทงทิ่มขา ไม่ให้ดื่มน้ำ ไม่ให้ไปห้องน้ำ และเมื่อถามถึงครูจุ๋ม ลูกจะหวาดกลัวไม่กล้าพูดถึงครูจุ๋ม เชื่อว่าครูในห้องทั้ง 4 คน เห็นเด็กถูกทำร้ายแต่ไม่มีใครห้าม กลับมองเป็นเรื่องปกติ
ทั้งนี้ผู้ปกครองทุกคนที่มาร่วมรายการ ยืนยันจะย้ายลูกออกจากโรงเรียนทันที และต้องการให้โรงเรียนแสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะเรื่องสภาพจิตใจของเด็กที่หวาดผวาจนถึงขนาดไม่กล้าไปโรงเรียน เพราะครูจุ๋มทำร้ายเด็กทั้งที่บางคนไม่ได้ทำอะไรผิด
พลตำรวจโทอำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เปิดเผยว่า ได้ออกหมายเรียกให้ครูจุ๋ม มาให้ปากคำเพิ่มเติม กับพนักงานสอบสวน สภ.ชัยพฤกษ์ ประเด็นขังเด็กไว้ในห้องน้ำ พร้อมดำเนินคดีในข้อหา ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว และ พ.ร.บ.ครู
เหตุการณ์ครูพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกายนักเรียนอนุบาล ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่ามีการกำหนดคุณสมบัติครูพี่เลี้ยงอย่างไร เพราะครูจุ๋มที่ก่อเหตุก็จบ ม.6 และไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
ทีมข่าวได้ตรวจสอบพบว่า ตำแหน่ง "ครูพี่เลี้ยง" นั้น ไม่ถือเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหรือการเรียนการสอน โดยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดเพียงว่า หนึ่งห้องจะมีครูกี่คน โดยกำหนดครู 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 20 คน ส่วนครูพี่เลี้ยงนั้น เป็นบุคลากรเสริมของโรงเรียนที่ไม่กำหนดตายตัว รวมถึงไม่มีการกำหนดคุณลักษณะของครูพี่เลี้ยง และให้เป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนที่จะกำหนดขึ้นมาเอง
นพ.สุริยเดว ทริปาตี ผู้เชียวชาญด้านกุมารแพทย์ เสนอว่า พี่เลี้ยงเด็ก ควรต้องมีการสอบใบอนุญาติประกอบวิชีพเช่นเดียวกับสายงานอาชีพ เพื่อประเมินหลักการปฏิบัติงาน สภาพจิตใจ วุฒิภาวะด้านอารมณ์ และภาคทฤษฏีความรู้ก่อนจะมาทำงาน
ด้าน รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ หัวหน้าหน่วยดูแลเด็กถูกทำร้าย รพ.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการการเยียวยาจิตใจ เด็กๆ ว่า ต้องให้กลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมั่นใจว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ใช้เวลาไม่นานเด็กจะสามารถปรับตัวได้ และจะสามารถลืมเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในที่สุด

สามารถรับชมทางยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/KwTRds_OwXg

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ