เลขาฯ มพบ.แฉประสบการณ์ตรง ถูกแอบอ้างข้อมูลหวังเบิกเงิน 'บัตรทอง' ทั้งที่ไม่ได้เข้าตรวจจริง

สังคม

เลขาฯ มพบ.แฉประสบการณ์ตรง ถูกแอบอ้างข้อมูลหวังเบิกเงิน 'บัตรทอง' ทั้งที่ไม่ได้เข้าตรวจจริง

โดย

24 ก.ย. 2563

808 views

การทุจริตในโครงการบัตรทองทำกันในหลายลักษณะ และหนึ่งในนั้นก็คือการแอบอ้างข้อมูลการตรวจสุขสภาพของผู้มีสิทธิ์บัตรทอง นอกเหนือจากที่ตรวจจริง เพื่อไปเบิกเงินจากโครงการ และหนึ่งในผู้ที่โดนกับตัวเองก็คือ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเป็นอดีตกรรมการ สปสช.ด้วย ซึ่งเธอคาดหวังว่าการพบการทุจริตโครงการบัตรทองในคลินิกและสถานพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพฯ จะนำไปสู่การพัฒนาระบบบางส่วนให้ดีขึ้นอีก 
โดย คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยกับข่าว 3 มิติว่า เคยพบเหตุการณ์ด้วยตัวเองขณะไปรักษาอาการหอบหืดที่คลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่นอกสถานบริการที่ลงทะเบียนไว้ในสิทธิ์บัตรทอง ซึ่งเจ้าหน้าที่คลินิกดังกล่าว สอบถามความต้องการตรวจป้องกันโรคอื่นๆ หรือไม่ เนื่องจากอยู่ในข่ายมีสิทธิ์ตรวจได้ ซึ่งคุณสารีปฎิเสธที่จะไม่ตรวจ แต่กลับมีการกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จในทะเบียน ว่ามีข่ายความเสี่ยงเบาหวาน ทั้งที่ไม่ได้ตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยซ้ำ
เหตุการณ์ที่คุณสารีพบด้วยตัวเอง เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดของวิธีการทุจริตเบิกจ่ายงบในโครงการส่งเสริมและพัฒนาป้องกันโรค ที่เปิดให้คลินิกชุมชนของเอกชน รัฐและสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ และต่อมาพบการใช้หลักฐานเท็จหลายประการ เพื่อยื่นเบิกจ่าย ทำให้ สปสช.ยกเลิกสัญญารอบแรก 18 แห่ง รอบสอง 64 แห่ง พร้อมแจ้ง ความทั้งแพ่งและอาญา โดยมีอีก 106 ที่เข้าข่ายความผิดเดียวกัน  กรณีไม่เพียงเฉพาะเสียงบประมาณไปโดยไม่ได้ตรวจจริงแล้ว ยังส่อให้เกิดเสียหายต่อฐานข้อมูลผู้ป่วย และการประกันชีวิตของแต่ละคน
ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริของสถานพยาบาลอยู่เป็นระยะ โดยระบบตรวจสออบภายใน หรือออดิท ทั้งการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตรวจสอบในชั้นแรก การใช้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โอกาสการทุจริตเป็นชั้นที่ 2 รวมถึงการเลือกและสุ่มตรวจ ซึ่งเป็นชั้นที่ 3 ก็หลักฐานเชิงประจักษ์ของการทุจริต ชนิดที่แม้ต่างคลิกนิก ต่างสถานที่ แต่วิธีกลับคล้ายๆกัน เช่น สถานพยาบาลหรือหน่วยส่งเบิก ไม่ตรงกับหน่วยคัดกรอง  มีการแก้ไขข้อมูลบุคคลให้อยู่ในเกณฑ์ตรวจคัดกรอง ทั้งที่ข้อมูลของคนไข้ไม่เป็นจริงตามนั้น ปลอมแปลงลายมือชื่อ ผู้รับบริการเช่น มากกว่า 5 คน มีลายมือตรงกัน อีกทั้งยังตรงกับผู้ให้บริการ 
นอกจากนี้ ยังมีความผิดปกติในห้องแล็ปหลายประการ เช่น วันที่ส่งเบิกเงินจาก สปสช. ไม่ตรงกันกับวันที่ตรวจในห้องปฎิบัติการจริง ยิ่งไปกว่านั้น จากการโทรศัพท์สุ่มสอบถาม ก็พบว่ามีผู้ป่วยจริง แต่ไม่ได้เคยเข้ารับบริการตรวจดังกล่าวแต่อย่างใด
แรงจูงใจของการกระทำดังกล่าว มาจากการที่คลินิก หรือสถานพยาบาลที่ร่วมโครงการ จะเบิกเงินจากสปสช.ได้ จากกรณีซักประวัติผู้ป่วย 100 บาทต่อคน และหากมีการตรวจคัดกรองจริง ก็จะเบิกเงินได้อีกรวมประมาณ 400 บาทต่อคน  คลินิกแต่ละแห่งมีผู้ลงทะเบียนไว้หลายพันคน ดังนั้น หากทำหลักฐานเท็จไปเบิกมากเท่าใด ก็จะได้เงินมากเท่านั้น 
ขณะที่เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า นโยบายนั้นเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบตรวจป้องกันโรคได้สะดวก โดยหวังว่าสปสช.จะใช้โอกาสนี้ ปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นอีก
การตรวจพบการทุจริตโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคนี้ เป็นเพียง 1 ใน 18 รายการ คือกลุ่มโรคเมตาบอลิก และตรวจเฉพาะงบประมาณปี 2562 เท่านั้น สปสช.มีแผน จะตรวจย้อนหลังของทั้ง 17 รายการที่เหลือ และย้อนหลังไปตั้งแต่ปีแรกของโครงการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ