เดือดตั้งแต่เริ่ม! ส.ว.เถียงเดือดฝ่ายค้าน โต้ยกร่าง รธน.ใหม่หมด ซัดไร้ประโยชน์ สร้างความขัดแย้ง

เลือกตั้งและการเมือง

เดือดตั้งแต่เริ่ม! ส.ว.เถียงเดือดฝ่ายค้าน โต้ยกร่าง รธน.ใหม่หมด ซัดไร้ประโยชน์ สร้างความขัดแย้ง

โดย

24 ก.ย. 2563

825 views

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563 การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 6 ญัตติ ที่พรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านร่วมกันเสนอ เริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. ซึ่งบรรยากาศดุเดือดตั้งเริ่มขึ้น เนื่องจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แสดงความไม่พอใจที่ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุญัตติ ที่ตนเองเสนอให้ รัฐสภาพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เนื่องจากมี ส.ส. เข้าชื่อซ้ำกัน ใน 4 ญัตติเพิ่มเติม ของฝ่ายค้าน ที่มีการยกเลิกอำนาจ ส.ว. และการให้เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง โดยอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้วเกี่ยวกับการลงชื่อซ้ำ กันในหลายฉบับที่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่ใช่อำนาจของประธานรัฐสภาวินิจฉัย เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะสามารถพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ประธานกลับไม่บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระ พร้อมขอให้ฝ่ายเลขารัฐสภาไปอ่านกฎหมายใหม่ หลังออกมาเปิดเผยว่าเรื่องที่ตนเสนอถูกตีตกไปแล้ว ซึ่งมองว่าการดำเนินของฝ่ายเลขาเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเตรียมฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบด้วย

โดยนายชวน หลีกภัย ประธานยืนยันว่า เรื่องที่ นายไพบูลย์เสนอให้บรรจุเป็นญัตตินั้น ได้ตกไปเพราะฝ่ายกฎหมายรัฐสภาพิจารณาแล้ว เห็นว่าเรื่องที่เสนอมาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 ที่ไม่ใช่เรื่องที่รัฐสภาจะต้องพิจารณาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนการลงชื่อซ้ำกัน ใน 4ญัตติ ของ ส.ส.ฝ่ายค้านนั้น เห็นว่าทั้ง 4 ญัตติ เป็นกรณีที่หลักการต่างกันแม้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ซึ่งประเด็นนี้ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ลงชื่อซ้ำ และที่ผ่านมาก็เคยมีการลงชื่อให้เสนอญัตติซ้ำแต่ต่างหลักการมาแล้ว ดังนั้นเรื่องที่นายไพบูลย์ เสนอจึงไม่ได้บรรจุเป็นญัตติต่อที่ประชุม

ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้เสนอญัตติชี้แจงหลักการและเหตุผลญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า จะต้องแก้มาตรา 256 ก่อน เพื่อที่จะนำไปสู่ก่อนแก้มาตราอื่นๆ

โดยนายสมพงษ์  ระบุว่า หลักการการแก้มาตรา 256 เป็นแนวทางที่พรรคเพื่อไทยชูไว้อยู่แล้ว พ่วงไปกับการแก้รายมาตราตามความต้องการของประชาชน รวมไปถึงการตั้ง สสร. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายมุ่งไปทางฟากฝั่งของ ส.ว. โดยระบุว่าอยากจะให้ ส.ว. เลิกทำตามคำสั่งของระบอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันให้ยกเลิก 250 ส.ว. หยุดระบอบประยุทธ์

ทั้งนี้ประเด็นการอภิปรายในวันแรกอยู่ที่การผลักดันให้ยกเลิก 250 ส.ว. แต่อย่างไรก็ตามทางฟากส.ว. เองก็อภิปรายคัดค้านอยู่เป็นระยะ พร้อมค้านการตั้ง สสร. ด้วย โดยทางส.ว.ระบุว่าจะไม่ยอมตีเช็กเปล่า ให้แก้รัฐธรรมนูญกันตามอำเภอใจ ทั้งยืนยันว่า ส.ว. มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ส.ว. ส่วนประสานเสียง ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อ้างอิงว่าหากยกเลิกร่างใหม่ อาจจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เป็นลักษณะของลูกฆ่าแม่ ทรยศ 16.8 ล้านเสียงที่ลงมติกันมา สิ้นเปลืองงบประมาณ และอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองอีกด้วย ส่วนส.ว. ที่ก่อนหน้านี้แสดงออกสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ในวันแรกยังคงสงวนท่าที ไม่ลงขึ้นอภิปรายแต่อย่างใด

โดยในมุมของฟาก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ก็ยืนยันขอให้ ส.ว. ร่วมโหวตแก้รัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่มีการแตะ หมวด 1 และ หมวด 2 แต่นายพิธา ยืนยันว่า อย่างไรก็ตามต้องถกกันใน 2 หมวดดังกล่าว ไม่อยากให้มองว่าข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นปีศาจของสังคมไทย

นายวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายตอกย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะแก้ไข ทั้งที่ใช้มาได้เพียงปีกว่า และประชาชนก็ไม่ได้เดือดร้อนจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปิดช่องโหว่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภา จนมาถึงวันนี้ เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง

ส่วนที่ ส.ว.ชุดนี้ โหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะเขามีเสียงของ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง จึงขออย่าดูถูกสมองของ ส.ว. เพราะคิดวิเคราะห์แยกแยะเป็น และ ส.ว.เลือกเพราะพลเอกประยุทธ์มีคะแนนนิยมสูงสุด ไม่ต้องเป็น ส.ว. เป็นชาวบ้าน เขาก็รู้ว่าจะเลือกใคร

นอกจากนี้ ยังกล่าวการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า อยากให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ถ่องแท้ ไม่ใช่เรียนแค่สองหน้ากระดาษ

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอีกว่าการกล่าวหาวุฒิสภาไม่ได้มาจากอำนาจเผด็จการ แต่เข้ามาโดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติ พร้อมระบุถึงการเข้ามาสู่อำนาจของ คสช.ว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้เข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะบ้านเมืองวิกฤต ยืนยัน ส.ว. จากเสียงประชาชนผ่าน คสช. ไม่ได้เดินเข้ามาเฉยๆ การกล่าวหาเป็นการเมืองเก่า ไม่ได้ทำให้เจริญก้าวหน้า

นายเสรี กล่าวว่า การเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล ไม่อยากชี้นำว่าจะสรุปอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามการเสนอให้มี ส.ส.ร. และบรรยากาศปัจจุบัน ที่มีการเรียกร้องทางการเมืองสูง ให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถ้านึกภาพแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมาจากพรรคการเมืองเพราะมีฐานเสียง มีหัวคะแนน มีวิธีการเลือกตั้งชนะ และอาจเห็นการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่ซื้อเสียงมากที่สุด แต่ก็ไม่ค่อยกังวลใจ เพราะสุดท้ายคือการอ้างอิงประชาชน แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือความแตกแยก การดูหมิ่นใส่ร้ายสถาบัน มีข้อเสนอที่คิดไปไกล พูดกันไกลมา ก้าวไกลจริงๆ

จนทำให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่าเป็นการอภิปรายพาดพิงมาถึงพรรคก้าวไกล ดูหมิ่นสถาบัน จึงขอให้ถอนคำพูดกล่าวหาพรรคก้าวไกลในเชิงดูหมิ่นสถาบัน ขณะที่นายเสรียืนยันว่าไม่ได้พูดว่าพรรคก้าวไกลซื้อเสียง ดูหมิ่นสถาบัน เพียงแต่ใช้ภาษาไทยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันก้าวไกล ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค

ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/AglKn4dwRxo

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ