ภาพรวมอภิปรายแก้รัฐธรรมนูญ ส.ว.ยังยืนค้านตั้ง ส.ส.ร. รอลุ้นลงมติ 6 ญัตติ วันนี้

เลือกตั้งและการเมือง

ภาพรวมอภิปรายแก้รัฐธรรมนูญ ส.ว.ยังยืนค้านตั้ง ส.ส.ร. รอลุ้นลงมติ 6 ญัตติ วันนี้

โดย

24 ก.ย. 2563

560 views

การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันแรก การอภิปรายของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสนอแก้ไขตรงกันในมาตรา 256 ต้ัง ส.ส.ร.ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่มีพรรครวมพลังประชาชาติไทย และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 1 เสียงที่ไม่เห็นด้วย ส่วน ส.ว.ส่วนใหญ่นั้น อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข และยืนยันว่า ส.ว.มาจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติ ทำให้มีการจับตาการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ ที่ยังต้องการเสียง ส.ว.มากกว่า 84 เสียงสนับสนุน ท่ามกลางการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก ที่ประกาศจะมาชุมนุมติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญวันนี้ 
การพิจารณาการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณา 6 ญัตติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนดเวลาการอภิปรายสำหรับ ส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ว.ตั้งแต่เวลา 10.30 น.วันนี้ ถึง 18.00 น.วันนี้ 24 กันยายน เพื่อให้ลงมติได้ทันเวลา 24.00 น. ก่อนปิดสมัยประชุม
ประเด็นการอภิปรายให้สมาชิกอภิปรายรวมทั้ง 6 มติ  ซึ่งเป็นญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ญัตติ ฝ่ายค้าน 5 ญัตติ ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ย้ำหลักการเสนอแก้มาตรา 256 ตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญ 
ส่วนการแก้ไขยกเลิกมาตรา 270 ถึง 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรี ไม่สอดคล้องกับหลักการและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และแก้ไขมาตรา 159 ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. ส่วนมาตรา 279 ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่สิ้นสุดไปแล้ว และการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ให้กลับมาใช้ บัตร 2 ใบ เลือก ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ
ส่วนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ให้มีส.ส.ร. เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทำรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม แม้พรรคพลังประชารัฐไม่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นนโนบายของพรรคร่วม จึงพร้อมจะให้แก้ไขตามความเหมาะสม เพื่อลดความขัดแย้งจากการเรียกร้องของประชาชน ที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ญัตติพรรคร่วมรัฐบาลมีเจตนารมณ์แก้ในมาตราที่เป็นปัญหา แต่ยืนยันไม่แก้หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จึงอยากให้สสมาชิก โดยเฉพาะ ส.ว.โหวตลงมติรับหลักการญัตติพรรคร่วมรัฐบาล
ส่วนการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ย้ำว่าทำให้การเมืองอ่อนแอ และยุติการสืบทอดอำนาจ โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขอให้สมาชิกรัฐธรรมนูญถอนฟืนออกจากกองไฟ เปิดทางให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ญัตติของฝ่ายรัฐบาลยังเปิดทางให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการสืบทอด อำนาจได้ และการออกแบบรัฐธรรมนูญต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ไม่จำกัดความฝันของประชาชน โดยเฉพาะการแก้ไข หมวด 1 และ หมวด 2 ตามที่มีข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการระบอดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง และข้อสำคัญในการตัดอำนาจ ส.ว.ที่คาดหวังให้ญัตตินี้ได้รับการลงมิต
ประเด็นสำคัญในการลงมติญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลนั้น มีการแสดงตัวที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ 5 เสียงของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังมี นายชุมพล จุลใส ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนยันว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายที่แพ้แล้วไม่ยอมแพ้ และยังไม่เห็นความจำเป็นในการแก้ไข มาตรา 272 เพราะตามบทเฉพาะกาล บังคับใช้ 5 ปีแรกเท่านั้น
ในขณะที่ ส.ว.นั้นส่วนใหญ่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ควรโยนบาปให้ ส.ว.เช่น นายสมชาย แสวงการ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ยืนยันว่าได้รับการเลือกมาตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติของประชาชนกว่า 16 ล้านคน เช่น นายวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ที่เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรืองเร่งด่วน ประชาชนไม่ได้เดือดร้อน แต่การออกมาเรียกร้องเพราะมีคนอยู่เบื้องหลังนายจเด็จ อินสว่าง เห็นว่า รัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่ต้องไม่แก้บ่อย ยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ หากตั้ง ส.ส.ร.ต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ส่วนส.ว.ที่เห็นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมูญ ที่มีการอภิปรายวันนี้ มีนายมณเฑียร บุญตัน ที่เห็นว่า ส.ว.ทุกคนมีเอกสิทธิ์ ที่จะแสดงความคิดเห็น จึงเชื่อว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอาจนำมาสู่ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด จึงเห็นว่าน่าจะแก้ไขในบางประเด็น ขณะที่นายวันชัย สอนสิริ ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล มาตรา 159 และ 272 ร่างของพรรร่วมรัฐบาล ที่ตัดอำนาจ ส.ว.เพื่อปิดสวิตซ์ประชาธิปไตยที่โกงกิน ทุจริตธุรกิจการเมือง และปิดสวิตซ์การยึดอนาจและวงจรอุบาทว์ทางการเมือง
เมื่อสำรวจท่าทีจากการอภิปรายโอกาสในการลงมติเห็นด้วยกับญัตติ ต้องมีเสียงกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ที่ต้องมีมากกว่า 369 เสียง ซึ่งในส่วน ส.ส.มี 487 คน จาก 500 คน โดยพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียง 277 คน ฝ่ายค้าน 212 คน ในแต่ละญัตติ ส.ว.ต้องเห็นด้วยเกิน 1 ใน 3 ต้องมีมากกว่า 84 เสียง ในส่วนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล มีอย่างน้อย 6 เสียงที่ไม่เห็นด้วย จึงต้องจับตา ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล จะมีเสียงของ ส.ว.รับร่างหรือไม่ ในการแก้ไขมาตรา 256 รวมทั้งญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีเสียงน้อยกว่า ก็ต่างคาดหวังเสียงของ ส.ว.ด้วย
ขณะที่กลุ่มไทยภักดี นำโดยนายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้นำรายชื่อประชาชนกว่า 1 แสน 3 หมื่นรายชื่อมายืนต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งยืนยันถึงเจตจำนงของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่มีผลตามกฏหมาย แต่หากรัฐสภาลงมติแก้ไข ประชาชนมีสิทธิ์ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐรรมนูญคัดค้านเรื่องนี้ต่อไป
ด้านคณะประชาชนปลดแอก จัดขบวนการไปตามสถานที่หน่วยงาน ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่เป็น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เพื่อยืนยันว่าไม่เห็นด้วย ส.ว.250 คนที่ต้องยกเลิกและในวันนี้ จะมาชุมนุมที่รัฐสภา ในเวลา 16.00 น. เพื่อติดตามการลงมติที่เป็นข้อเรียกร้องสำคัญของคณะประชาชนปลดแอก
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/jSV3dWAbD3U

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ