นักพัฒนาสังคมเตือน พัฒนาโครงการห้วยหลวงตอนล่าง ต้องป้องกันดินเค็มกระจายตัว

สังคม

นักพัฒนาสังคมเตือน พัฒนาโครงการห้วยหลวงตอนล่าง ต้องป้องกันดินเค็มกระจายตัว

โดย

16 ก.ย. 2563

901 views

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างระหว่างอุดรธานี กับหนองคาย มีกำหนดต้องแล้วเสร็จในปี 2569 ใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้าน นอกจากตั้งเป้าหมายว่า จะแก้ปัญหา น้ำแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซากได้แล้ว ยังจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกราว 3 แสนไร่ แต่นักพัฒนาสังคมในจังหวัดหนองคาย เป็นห่วงผลกระทบจากการ ที่ดินเกลือ หรือดินเค็มอาจถูก ชะล้าง ไปกับการหลากของน้ำหรือการพังของพนังที่กำลังจะสร้างขึ้น ขณะที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ยืนยันว่าปรับเปลี่ยนรูปแบบตามสภาพภูมิประเทศได้
ภาพมุมสูงโดยกรมชลประทาน ทำให้เห็นแนวลำห้วยหลวง ซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนบน ต้นน้ำจากหนองบัวลำภู-อุดรธานี -ปลายทางคือแม่น้ำโขง ที่อำเภอ โพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ลุ่มน้ำนี้มีผลต่อวิถีคนพื้นที่ ทั้งเคยเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางเรือ จากแม่น้ำโขง สู่ชมชนตอนใน และเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ตอนนี้ล้ำห้วยหลวงอยู่ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ภายใต้งบประมาณรวม 21000 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 2561 กำหนดแล้วเสร็จปี 2569 ซึ่งภายใต้งบประมาณและเวลาดังกล่าวมี 5 โครงการหลัก
คือสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ซึ่งคืบหน้าราว 23 เปอร์เซ็นต์/ที่เหลือจากนี้จะเป็นงานพนังกัันน้ำ ช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วย ทั้งปรับปรุงและสร้างใหม่ รวม 47 กิโลเมตร งานอาคารบังคับน้ำ หรือประตูระบายน้ำตามลำห้วย รวม 15 แห่ง และงานที่ 5 คือระบบส่งน้ำชลประทานขนาดกลาง 13 โครงข่าย ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน ระบุว่าโครงการนี้จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานจากเดิม 15,000 ไร่ เป็นมากถึง 3 แสนไร่ และจะลดพื้นที่น้ำท่วม ซ้ำซากได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม จ.หนองคาย เตือนหน่วยงานรัฐด้วยความกังวลใจว่าภูมิประเทศที่มีดินเค็มหรือดินเกลือในอีสาน อาจสะสม มากขึ้น หากมีการกักเก็บน้ำไว้ตลอดทั้งช่วงหน้าแล้งและหน้าฝน และหากพนังกั้นน้ำพังลงจากเหตุสุดวิสัย โดยเฉพาะลำน้ำที่คดเคี้ยว อาจจะทำให้ตะกอนดินเค็มนั้นกระจาย 
ลงพื้นที่การเกษตรได้
ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบยืนยันว่าภูมิประเทศและระบบนิเวศน์ ผ่านการศึกษามาแล้ว และพร้อมจะปรับเปลี่ยนตามสภาพระบบนิเวศน์ของพื้นที่ 
เมื่อปี 2539 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มีแผนพัฒนาห้วยหลวง โดยสร้างประตูระบายน้ำห้วยหลวง เมื่อปี 2545 ต่อมาโอนมาให้กรมชลประทานรับผิดชอบเมื่อปี 2546 กระทั่งเมษายน 2561 ครม.อนุมัติโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ภายในวงเงิน 21000 ล้านบาท  พร้อมตั้งเป้าหมายว่า จะเชื่อมต่อน้ำโขงผ่านลำห้วยหลวงสู่ลำน้ำปาวที่กาฬสินธุ์ ลงสู่แม่น้ำชีที่ร้อยเอ็ดได้ในอนาคต 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ