ไอลอว์ ยื่นรายชื่อภาคประชาชนแก้ไข รธน. ด้านกลุ่มไทยภักดีเร่งรวมรายชื่อค้าน

เลือกตั้งและการเมือง

ไอลอว์ ยื่นรายชื่อภาคประชาชนแก้ไข รธน. ด้านกลุ่มไทยภักดีเร่งรวมรายชื่อค้าน

โดย

16 ก.ย. 2563

762 views

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 7 หมื่นคน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร และจะยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในวันที่ 22 กันยายน ขณะที่กลุ่มไทยภักดี ยื่นรายชื่อกว่า 1 แสน 3 หมื่นชื่อ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 กันยายน
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 7 หมื่นคน ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะรวบรวมจนถึงวันที่ 19 กันยายนนี้ คาดว่าจะถึงหนึ่งแสนชื่อ และจะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 22 กันยายนนี้ เพื่อให้รัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งนี้ เข้าสู่การพิจารณาควบคู่ไปกับร่างของพรรคการเมืองต่างๆด้วย
ขณะที่เครือข่ายที่ร่วมสนับสนุนร่างของไอลอว์ ทั้งนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เป็นห่วงว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.อาจใช้เวลา 1-2 ปีในการจัดทำประชามติด้วย  ขณะที่บางมาตรามีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องยกเลิก โดยเฉพาะมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องแก้ไขควบคู่กัน 
นายทัดเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก สนับสุนนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์ และจับตาการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งในการเคลื่อนไหว ที่พร้อมจะยกระดับการชุมนุม 
นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี เปิดเผยด้วยว่า การรวมรวมรายชื่อผ่านออนไลน์ได้กว่า 1 แสน 3 หมื่นรายชื่อ เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการแสดงเจตจำนง ว่าประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งการคัดค้านไม่ต้องลงชื่อตามกฏหมาย จึงทำได้รวดเร็วต่างจากไอลอว์ และในวันที่ 23 กันยายน จะเดินทางไปยื่นรายชื่อต่อประธานวุฒิสภา เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังใช้ได้ เพราะผ่านการลงประชามติมาจากประชาชนกว่า 16 ล้านคนแล้ว
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวบรวมรายชื่อ ส.ส.45 คน ยื่นญัตติด่วนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 4 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งไม่ใช่การเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุม ที่อยู่ในอำนาจวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วงเล็บ 1 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ