'ป้าแมว' ทวงหนี้ 'เจนนี่' สรุปเจ้าหนี้ทวงอย่างไร ไม่ผิด และได้เงินคืน

เศรษฐกิจ

'ป้าแมว' ทวงหนี้ 'เจนนี่' สรุปเจ้าหนี้ทวงอย่างไร ไม่ผิด และได้เงินคืน

โดย

14 ส.ค. 2563

3.4K views

จากกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์อย่างต่อเนื่อง สำหรับ 'เจนนี่ ได้หมดถ้าสดชื่น' ที่มีดราม่าไม่หยุดไม่หย่อน ซึ่งล่าสุด ก็มีคนออกมาปล่อยคลิปที่เจนนี่ถูกเจ้าหนี้บุกทวงเงินถึงหน้าบ้าน จนเกิดการปะทะคารมกันแบบเดือดสุดๆ

คลิปในเฟซบุ๊กเจนนี่ถูกทวงเงิน ขณะที่ เจ้าหนี้รายนี้เขาเรียกกันว่า ‘ป้าแมว’ โดยภายหลังป้าแมวก็ออกมาเปิดใจถึงเรื่องดังกล่าวว่า แม่ของเจนนี่ยืมเงินป้าแมวไปจริง เป็นเงินทั้งหมด 270,000 บาท ซึ่งแบ่งเป็นหนี้ที่มีการเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร จำนวน 140,000 บาท และหนี้สัญญาใจอีก 130,000 บาท

ทำให้หลายคนสงสัยว่า สิ่งที่ป้าแมวเขาทำนั้น มันผิดกฎหมายหรือเปล่า แล้วถ้าฉันเป็นเจ้าหนี้แบบป้าแมว ฉันจะทวงยังไง ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย และได้เงินคืนด้วย

ทีมงานของเรามีโอกาสพูดคุยกับ ทนายเจมส์ หรือทนายนิติธร แก้วโต ซึ่งมีรายละเอียดทางข้อกฎหมายมากมาย แต่ผมจะอธิบายให้ฟังเข้าใจง่ายๆ แบบนี้

สำหรับใครที่เป็นเจ้าหนี้ ลองมาแบ่งเป็น 2 ส่วนให้เข้าใจง่ายๆ ส่วนแรก คือ คุณให้คนรู้จักยืมเงิน โดยที่คุณคือเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้ ปล่อยกู้ให้ชาวบ้านตามปกติ

คุณสามารถทวงหนี้ได้ แต่ต้องยึดตาม พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ปี 2558 สิ่งที่คุณทำได้คือ

1.เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ยกเว้น สามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของลูกหนี้

2.เจ้าหนี้ทวงถามหนี้ได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการ เวลา 08.00-18.00 น.

และที่สำคัญเลยคือ 3.เจ้าหนี้สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการทวงหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน Line ทวงหนี้ผ่านข้อความ sms หรือทางโทรศัพท์ ถ้าลูกหนี้รับสาย หรือเปิดอ่านข้อความ ถือว่าได้มีการทวงแล้ว แต่หากไม่รับสาย-กดตัดสาย หรือไม่เปิดอ่านข้อความ จึงจะถือว่ายังไม่มีการทวงถามหนี้

นอกจากนี้ เจ้าหนี้ห้ามพูดจาดูหมิ่น ข่มขู่ ประจาน ใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ และห้ามโพสต์ทวงหนี้ ผ่านหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊กหรือเป็นสาธารณะ  เพราะถือเป็นการประจานและเปิดเผยเกี่ยวกับการเป็นหนี้ของลูกหนี้ต่อบุคคลภายนอก

สำหรับส่วนที่สอง คือ คุณเป็นเจ้าหนี้ แต่ทีนี้คุณเป็นเจ้าหนี้แบบ ฉันใจดีให้เพื่อนยืม แต่ฉันไม่ใช่เจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้นะ แต่พอมีเงิน ยินดีให้ยืม ซึ่งกรณีนี้มีทั้งแบบมีสัญญา และไม่มีสัญญา

ทนายเจมส์ บอกว่า คุณสามารถทวงหนี้ได้วันละกี่ครั้งก็ได้ ไม่บังคับว่าต้องทวงครั้งเดียวต่อวัน ไม่บังคับด้วยว่าต้องทวงตอนไหน

แต่คุณอาจจะต้องระวังว่า มันอาจจะไปเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาข้อหาอื่นๆ เช่น ไปข่มขู่คุกคาม, สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือเขาจะถูกเกลียดชังหรือเปล่า

เพราะสุดท้ายแล้ว อาจจะเสียท่าให้ลูกหนี้หัวหมอฟ้องกลับได้ ผิดสัญญากู้ยืมเงินนั้น เป็นแค่คดีแพ่ง แต่คดีหมิ่นประมาท เป็นคดีอาญา

สุดท้ายแล้ว ทนายเจมส์ ฝากไว้ให้คิดอย่างนี้ครับ “เป็นหนี้ก็ต้องชดใช้ จะผ่อนมากจะผ่อนน้อย จะขอเวลานานเท่าไหร่ จะตัดดอกเบี้ยส่วนไหน ก็ว่ากันไป สุดท้ายแล้ว ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึด กฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรม และทั่วถึงเสมอครับ”

สำหรับคนที่ถามเข้ามาว่า กรณีให้กู้ยืมเงิน แต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือสัญญากู้ยืม แต่เจ้าหนี้บอกว่า “อยากได้ไปฟ้องเอา” ส่วนนี้กฎหมายคุ้มครองไหม

คำตอบคือ ถ้าคุณมีการสนทนาขอยืมเงินผ่านสื่อสังคมออนไลน์ คุณสามารถใช้เป็นหลักฐาน ประกอบกับหลักฐานการโอนเงินผ่านธนาคาร ยื่นฟ้องแทนสัญญากู้ยืมเงินได้

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/-u9I0Yv2uBw

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ