คีย์แมนคนสำคัญคดี #บอสอยู่วิทยา ยันคำสั่งไม่ฟ้องเป็นไปตามสำนวน พนง.สอบสวน

อาชญากรรม

คีย์แมนคนสำคัญคดี #บอสอยู่วิทยา ยันคำสั่งไม่ฟ้องเป็นไปตามสำนวน พนง.สอบสวน

โดย

13 ส.ค. 2563

1.6K views

การตรวจสอบคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา วันนี้มีความชัดเจนเรื่องผลสอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่พบข้อบกพร่องในคำสั่งไม่เห็นแย้งของพลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ แต่พบข้อบกพร่อง 10 ข้อของพนักงานสอบสวน ขณะที่นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการกฏหมาย สภาผู้แทนราษฏร ครั้งแรก ยืนยันคำสั่งไม่ฟ้องเป็นไปตามกรอบการหาสำนวนของพนักงานสอบสวน 
นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ยืนยันว่า เหตุผลสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด นายวรยุทธ อยู่วิทยา เป็นไปตามกรอบการหาพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนไม่มีข้อเท็จจริงนอกสำนวน โดยเฉพาะเรื่องความเร็วรถที่พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น จาก ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน มีความเห็นครั้งแรกในบันทึกตรวจความเร็ว 177 กม.ต่อ ชม. แต่หลังจากมีการร้องขอความเป็นธรรม ในชั้นคณะกรรมาธิการของ สนช. มีการสอบพยานเพิ่มเติม จนมีการคิดวิธีคำนวณความเร็วใหม่ เหลือแค่ 79.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่ผิดกฏหมาย 
และพยาน 2 ปาก ยืนยันว่าผู้ตายเปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องซ้ายสุดไปขวาสุด จึงถือว่าหลักฐานที่ปรากฎในสำนวน ไม่เพียงพอที่จะฟ้องนายวรยุทธ ในความผิดฐานขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้ว่าพลอากาศโท จักรกฤช ถนอมกุลบุตร จะมาเป็นพยานหลังเกิดเหตุ 3 ปี แต่นายจารุชาติ เป็นพยานมาตั้งแต่ต้น จึงมองว่าเชื่อถือได้ โดยการลาออกก็เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร แต่ยืนยันว่าทำคดีด้วยความโปร่งใส ไม่มีการรับเงิน และพร้อมให้ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งหากมีการรื้อคดีใหม่ ก็สามารถเอาผิดนายวรยุทธ ได้อีก
ข้อสงสัยเรื่องการเปลี่ยนความเร็วรถ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ชี้แจงว่า เป็นเพราะในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้บังคับบัญชาไม่ขอเปิดเผยรายชื่อ ได้พา รองศาสตราจารย์ สายประสิทธิ์ เกิดนิยม มาพบในห้องทำงานของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วย โดยนำวิธีการคำนวณใหม่ที่ระบุความเร็วรถไว้ที่ 79.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ขณะนั้นมีเวลาจำกัดและมีความกดดันที่ต้องทำให้ปากคำไปตามนั้น แต่เมื่อพบว่ามีความคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องในวันที่ 29 มีนาคม 2559 พยายามขอแก้ไขความบกพร่องให้ถูกต้อง แต่ได้รับแจ้งว่าหมดเวลาของการให้การแล้ว
ส่วนการยื่นร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการนำพยานใหม่จนนำมาซึ่งการสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด โดยเฉพาะในช้ันกรรมาธิการ สนช.เมื่อปี 2557 นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความนายวรยุทธ ชี้แจงว่าเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหา ที่ทำตามขั้นตอน และหากคณะกรรมาธิการกฏหมายจะเชิญนายวรยุทธ มาชี้แจง คงเป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยและถูกยกเลิกหนังสือเดินทางไปแล้ว
ขณะที่ประเด็นสำคัญเรื่องการไม่เห็นแย้งอัยการของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับคำชี้แจงว่าเมื่อเห็นสำนวนแล้วไม่มีสิทธิ์ดำเนินการให้เป็นอย่างอื่น แต่ยืนยันได้ว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ และไม่มีใครสั่งได้นอกจากนายชัย ชิดชอบ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งส่วนตัวเมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงเพื่อเรียกศรัทธาของประชาชน
ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบยังชี้แจงไทม์ไลน์การทำงานของพนักงานสอบสวน พบความบกพร่อง 10 ข้อ เช่น ไม่ได้ทำการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ทำการตรวจค้นบ้านผู้ต้องหาในวันเกิดเหตุ มาประกอบสำนวน ไม่ได้ทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์และไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานในทันที เป็นเหตุให้ขาดพยานหลักฐานในการฟ้องไม่ได้สอบสวนปากคำผู้นำตัวผู้ต้องหามามอบตัว ทำสัญญาประกันปล่อยตัวชั่วคราวบกพร่อง ผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัวเอง จึงไม่ใช่การจับกุม และไม่มีหมายจับการใช้ดุลยพินิจของคณะพนักงานสอบสวนที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการตรวจสารเสพติด การสั่งปล่อยตัวชั่วคราว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การทำงานครั้งนี้จะไม่เป็นการฟอกขาว แต่จะตรวจสอบไปตามข้อเท็จจริงตามความบกพร่องที่พบโดยไม่สนในตำแหน่งใด

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ