นิติฯ มธ.ฉงน เหยื่อกลายเป็นแพะ ถาม กม.ไทย “แล้วจะสอนหนังสือได้อย่างไร” ชี้ 3 แนวทางรื้อปมคดี ‘บอส อยู่วิทยา’

สังคม

นิติฯ มธ.ฉงน เหยื่อกลายเป็นแพะ ถาม กม.ไทย “แล้วจะสอนหนังสือได้อย่างไร” ชี้ 3 แนวทางรื้อปมคดี ‘บอส อยู่วิทยา’

โดย

2 ส.ค. 2563

1.3K views

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ ‘คดี (กระทิงแดง) ชนตำรวจ นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ’ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และอดีตอัยการสูงสุด มาร่วมเสวนาถึงทางออกของคดีนี้ว่าจะไปได้ในทิศทางใด

โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การคืนความน่าเชื่อถือให้กับกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้มีทางเดียวคือการให้ศาลเป็นผู้พิจารณา โดยยังมี 3 แนวทางสำคัญ ที่จะสามารถรื้อคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ได้ แม้ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.147 จะระบุว่า คดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามไม่ให้มีการสอบสวนในคดีนั้นอีก เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานใหม่นั้น

แต่ส่วนตัวเชื่อว่าแนวทางที่จะสามารถรื้อคดีนี้ให้นำสู่ชั้นศาลได้ คือ

1. หากอัยการสั่งไม่ฟ้องโดยไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นโมฆะ เช่นเดียวกับในชั้นศาล ก็มีหลักตามประมวลกฎหมายแพ่ง ในกรณีที่มิได้มีการปฏิบัติตาม กม.แพ่ง ศาลสามารถสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งใหม่ได้ ดังนั้นขนาดศาลยังสั่งใหม่ได้ เรื่องนี้อัยการสูงสุดต้อง ตรวจสอบว่าคำสั่งของอัยการในคดี"บอส อยู่วิทยา"มีความไม่โปร่งใสหรือไม่

2. นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจดูแลควบคุมการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ ดังนั้นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งทบทวนใหม่ได้ หากพบว่าการที่ตำรวจไม่คัดค้านคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่า นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้วและสามารถคาดหวังได้เพราะมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย

3. คือการหาพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งหลักฐานใหม่ในคดีนี้อาจเกิดขึ้นได้ จาก

- การนำเครื่องตรวจจับความเร็วรถมาวัดความเร็วรถจากภาพกล้องวงจรปิดของตำรวจ

- การเชิญ บ.รถเฟอร์รารี่ มาให้ข้อมูลสมรรถนะของรถ ที่มีมูลค่าถึง 35ล้านบาท แต่ชนด้วยเร็วไม่เกิน 80 เหตุใดจึงเสียหายได้มากขนาดนี้ ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลมาเป็นหลักฐานใหม่ได้

- และประเด็นคดีโคเคน แม้ไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติด ที่เสพแล้วจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร แต่ การเสพโคเคน มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด และยังเป็นคดีที่มีอายุความถึง 10 ปี ซึ่งกรณีนี้ มีแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดียืนยันชัดเจนว่า มีสารโคเคนในร่างกายของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ประกอบกับตำรวจและทันตแพทย์ที่ทำฟันให้นายวรยุทธก็ยืนยันว่า โคเคนที่พบไม่ได้เกิดจากการทำฟัน

ดังนั้น ทางเดียวที่จะเข้าสู่ร่างกายได้คือการเสพ แต่การที่ตำรวจไม่เอาผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ปล่อยให้ช่วงเลยมาถึง 8 ปี เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ประเด็นนี้จะเป็นหลักฐานใหม่ มีจะไปหักล้างประเด็นขับรถชนโดยสุดวิสัยได้ เพราะหากพิสูจน์ได้ว่ามีการเสพยาเสพติดจริง และยาเสพติดที่พบออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมีผลต่อการตัดสินใจ

ดร.ปริญญา ยังตั้งคำถามว่า คดีนี้ดาบตำรวจวิเชียรกลายเป็นผู้ต้องหาได้อย่างไร เพราะการ ที่ใครจะตกเป็นผู้ต้องหาได้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหา แล้วคดีนี้ตำรวจไปแจ้งข้อกล่าวหา ดาบตำรวจวิเชียรตั้งแต่ตอนไหน และการจะแจ้งข้อกล่าวหาใครจะต้องความสามารถข้อกล่าวหาได้ แต่ตอนนี้ดาบตำรวจไม่มีโอกาสได้แก้ข้อกล่าวหากับตำรวจเลยเพราะเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนตัวมองว่าคดีนี้ ดาบตำรวจวิเชียรกลายเป็นแพะ 

ขณะที่การพิจารณาจากความเห็นของพนักงานสอบสวนที่ทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ในคดีนั้น จากการสอบสวนพยาน 2 คนให้การว่า ด.ต.วิเชียร เปลี่ยนเลนกะทันหัน จนทำให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ที่ก่อเหตุชนแล้วลากผู้เสียชีวิตไป 200 เมตร เป็นเหตุสุดวิสัย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้น

หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะแสดงให้เห็นว่า สำนวนชี้ไปว่า ด.ต.วิเชียร เป็นผู้ประมาทเอง จนทำให้อีกฝ่ายขับรถชน ก็ยิ่งส่งผลถึงที่อัยการไม่สั่งฟ้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพราะสำนวนชี้ไปว่านายวรยุทธ ไม่ได้ขับรถประมาท

“สำหรับตามกฎหมายที่ระบุว่า หากมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ไม่สามารถฟ้องคดีใหม่ได้จนกว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ หรือญาติผู้เสียหายฟ้องเอง และขณะนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้อาจจะไม่สามารถฟ้องคดีต่อได้”

อย่างไรก็ตามในคดีนี้ แม้ครอบครัวผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่ในทางกฎหมายไม่ได้ตัดสิทธิ์ร้องขอความเป็นธรรมในคดีนี้ได้ แต่ส่วนตัวไม่ทราบว่าคู่สมรสของ ดาบตำรวจวิเชียรทราบหรือไม่ว่า ดาบตำรวจวิเชียรถูกทำให้เป็นแพะในคดีนี้

นายปริญญาเห็นว่า คดีนี้ยังมีพยานหลักฐานใหม่ โดยเฉพาะการวัดความเร็วของรถที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาแสดงความคิดเห็น อยากให้เชิญทุกคนมาร่วมเสนอความเห็นและหลักการวัดทางวิทยาศาสตร์ให้สิ้นสงสัย

ส่วนเรื่องการพบสารเสพติดชนิดโคเคนในร่างกายนั้น หากตามกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 95 การเสพยาเสพติดประเภทที่ 2 มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี ยังมีอายุความ 10 ปี ทำให้ข้อหานี้ยังสามารถแจ้งกับผู้ต้องหาได้ แต่จะต้องดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนที่ไม่สั่งฟ้องคดีตั้งแต่แรกหรือไม่ ต้องไปตรวจสอบที่ดุลยพินิจในตอนแรกประกอบ

ส่วนนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจดูแลควบคุมการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งทบทวนได้ หากพบว่า การไม่คัดค้านการสั่งไม่ฟ้องอัยการของตำรวจในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่า นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้วและสามารถคาดหวังได้ เพราะมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย ทั้งหมดนี้จึงถือว่าเป็นหลักฐานใหม่ทางคดีที่น่าจะนำมาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาใหม่ได้

ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/SkISGm0dcU8

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ