องคมนตรี ประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ครั้งที่ 8/2563

พระราชสำนัก

องคมนตรี ประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ครั้งที่ 8/2563

โดย

8 ก.ค. 2563

583 views

องคมนตรี จรัลธาดา กรรณสูต ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง
วันนี้ (8 กรกฎาคม 2563) เวลา 09.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 8/2563 ณ ห้องดอยคำ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง 
โดยที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ. ตาก ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นบทพิสูจน์การพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนบนพื้นที่สูงสู่การดำรงชีวิตที่สมดุล เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศ ตามแนวทางโครงการหลวงโมเดล โดยปัจจุบันได้มีการดำเป็นโครงการวิจัยในพื้นที่ ได้แก่ การวิจัย ทดสอบพันธุ์ข้าวบนพื้นที่สูงที่ไม่ไวต่อช่วงแสง โครงการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นธนาคารอาหารชุมชนบนพื้นที่สูงในอนาคต 
โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โครงการวิจัยศึกษาการปลูกป่าและวนเกษตรบนพื้นที่สูง เพื่อเป็นตัวอย่างรูปแบบวนเกษตร ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่ของเกษตรกร การรณรงค์การปลูกพืชเหลื่อมถั่วในแปลงข้าวโพด เพื่อเป็นพืชคลุมดิน และลดการพังทลายของหน้าดิน และการจัดทำแปลงสาธิตไม้ผลในบริเวณศูนย์ ได้แก่ แมคคาเดเมีย เสาวรส รวมทั้งยังมีแปลงสาธิตในหมู่บ้านจ่อคี เพื่อให้เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ และเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่
นอกจากนี้ โครงการหลวงยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชาขาวพร้อมชง ซึ่งทดลองตลาดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ชาขาว (white tea) เป็นชาที่แปรรูปมาจากยอดชาอัสสัมซึ่งผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด โดยเก็บยอดอ่อนชาอัสสัม เพียง 1 ยอด นำไปผ่านกระบวนการ ทำให้แห้งด้วยการผึ่งแบบประณีต พลิกกลับใบชาจนแห้ง นำไปอบไล่ความชื้น จึงได้เส้นชาขาว ที่สวยงามและมีกลิ่นหอม พื้นที่ผลิตชาที่สำคัญของโครงการหลวง 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฯ ห้วยโป่ง แม่แพะ แม่ปูนหลวง ป่าเมี่ยง และตีนตก 
จากปีที่ผ่านมา ชาขาวเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยม มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ โครงการหลวงจึงได้ออกแบบและพัฒนาชาขาวในรูปชาพร้อมชงในถุงพีระมิด ผ่านการผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพ GMP CODEX ซึ่งจะมีจำหน่ายในร้านโครงการหลวงสาขาต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพ เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี อุดรธานี รวมทั้งในงานโครงการหลวง 51 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-16 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
จากพระราชประสงค์ในการช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก โครงการหลวงจึงมุ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยประเทศชาติในการดูแลคนบนพื้นที่สูง และประชาชนทั่วไป จากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา ผลิตผลทุกชนิดของเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมทั้ง 39 แห่ง ได้กระจายไปยังที่ต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อบรรเทาความตึงเครียดและความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
ปริมาณผลิตผลที่รับซื้อจากเกษตรกรชาวเขาในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อกระจายไปยังจุดต่าง ๆ ในประเทศ มีมูลค่ารวม 760 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่แตกต่างจากภาวะปกติ เป็นเครื่องแสดงว่าผลิตผลผลิตภัณฑ์โครงการหลวงนั้นได้รับยอมรับและความเชื่อมั่นจากชาวไทยอย่างสม่ำเสมอ และผลิตผลบางชนิดยังมีปริมาณการรับซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวเขาในพื้นที่ นอกจากราคาจำหน่ายผลิตผลหลายชนิดในช่วงดังกล่าวเป็นราคาพิเศษแล้ว โครงการหลวงยังได้นำผลิตผลไปมอบให้แก่องค์กรภาครัฐ เอกชน องค์กรการกุศล ทั้ง โรงพยาบาล ทัณฑสถาน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงเรียน และวัด เพื่อประกอบอาหารแจกแก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งองค์กรที่ดูแลสัตว์ 
นอกจากนี้ โครงการหลวงยังได้นำงบประมาณหมวดฝึกอบรม ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง รวมจำนวน 4 ล้านบาท ไปบรรเทาผลกระทบด้านภัยแล้งแก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยเร่งซ่อมแซมบ่อ อ่างกักเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน สร้างฝายชะลอน้ำ จัดทำระบบการกระจายน้ำสู่แปลงเกษตร และจัดหาอุปกรณ์นำน้ำจากแหล่งธรรมชาติไปใช้ในชุมชนให้เพียงพอ ในพื้นที่ 102 ชุมชน ในเขต 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก จำนวนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์กว่า 1,400 ราย

แท็กที่เกี่ยวข้อง