'สมคิด' สั่งอัดงบ 5 หมื่นล้าน ช่วย SME ชายขอบ 7.6 แสนราย

เศรษฐกิจ

'สมคิด' สั่งอัดงบ 5 หมื่นล้าน ช่วย SME ชายขอบ 7.6 แสนราย

โดย

30 มิ.ย. 2563

918 views

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวภายหลังมอบนโยบายการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยระบุว่า เอสเอ็มอี เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 และหากไม่มีมาตรการช่วยเหลืออาจส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน ซึ่งปัจจุบัน ปัญหาหลักของเอสเอ็มอี คือ ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร ดังนั้น จึงมอบหมายให้ สสว. และธนาคารของรัฐ ไปดูเรื่องการช่วยเหลือสภาพคล่องชั่วคราว และ เติมทุนให้เอสเอ็มอี เพื่อให้ประกอบกิจการได้ และมีสถานะที่เข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้ โดยมอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ 
ขณะที่ เอสเอ็มอีแบงก์ ช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง และ ธนาคารออมสิน ช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก พร้อมทั้งหาแนวทางนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ และในระยะยาวเมื่อเอสเอ็มอีเข้มแข็ง ก็จะลดความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียได้ รวมถึงโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ของ สสว. ให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อนำเสนอ ครม. สัปดาห์หน้า
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผย แนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอี และ ไมโครเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่าได้ สสว. ได้จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และ ไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงินงบประมาณ 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ 765,000 ราย โดยเน้นกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง 
ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือนิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชนที่มีการจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียน โดยมีเงื่อนไขคือ 1. ต้องเป็นสมาชิก สสว. 2.เป็นผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงินและไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบัน 3.ผู้ขอสินเชื่อต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างชำระค่างวดตามเงื่อนไขไม่เกิน 4 งวด ในโครงการพลิกฟื้น เอสเอ็มอี และโครงการฟื้นฟู เอสเอ็มอี ของ สสว. คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้
นอกจากนี้ สสว. จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแต่ละปีมีวงเงินสูงมาก โดยในปี 62 มีมูลค่าตลาดภาครัฐทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หากช่วยให้เอสเอ็มอี เข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ 30% จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการกว่า 400,000 ล้านบาท คาดว่ามาตรการดังกล่าว จะแล้วเสร็จในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม 63 ซึ่งจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้เอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม
รับชมผ่านทางยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/BVCwhx1oH6s

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ