ตรวจสอบโรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ หลังพบสร้างล่าช้าผิดปกติ-ใช้งบเกือบ 200 ล้านบาท

สังคม

ตรวจสอบโรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ หลังพบสร้างล่าช้าผิดปกติ-ใช้งบเกือบ 200 ล้านบาท

โดย

21 มิ.ย. 2563

9K views

ข่าว 3 มิติได้รับการร้องเรียน จากคนในพื้นที่ ให้ช่วยตรวจสอบความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา งบประมาณ 193 ล้านบาท ที่ จ.บึงกาฬ หลังมีการตั้งข้องสังเกตว่าล่าช้าผิดปกติ 
ขณะที่ทีมข่าวพบว่า โครงการนี้ ตั้งอยู่บนที่ดิน 37 ไร่ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ แต่ตอนนี้ ชุมนุมสหกรณ์ฯ ก็อยู่ระหว่างถูกฟ้องชำระหนี้เงินกู้ โดยนำโฉนดที่ดิน 37 ไร่นี้แปลงนี้ไปค้ำประกันด้วย ติดตามรายละเอียดจากคุณมนตรี อุดมพงษ์ครับ
วัสดุทรง 4 เหลี่ยมที่หล่อขึ้นจากคอนกรีตเสริมเหล็ก และวัสดุภายในบุด้วยสแตนเลสและอลูมิเนียม  เรียกว่าตะกงใช้สำหรับใส่น้ำยางพาราเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนรีดยางแผ่นในอุตสาหรรมยางพารา ตะกงยางพาราเหล่านี้ มีราคาแตกต่างกันออกไปตามขนาดความกว้าง ยาว แต่เฉลี่ยแล้ว ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่ออัน ตอนนี้ตะกงมากกว่า 50 อัน ถูกขนส่งจากภาคใต้มาวางไว้ บนที่ดินของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ
ข่าว 3 มิติ ได้รับข้อมูลว่า เหตุผลที่ตะกงเหล่านี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในโรงงานแปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่น ถูกวางไว้เช่นนี้ เพราะโรงงานส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมนี้ เพิ่งจะตอกเสาเข็ม โดยมีข้อมูลอีกว่า เฉพาะโรงงานที่กำลังตอกเสาเข็มนี้ จะหมดสัญญาในราวเดือนกันยายนที่จะถึง นั่นจึงทำให้ ยังมีเครื่องจักร วัสดุจำเป็นอื่นๆ ต้องถูกฝากไว้ในโรงงานอื่นที่แล้วเสร็จก่อน
อาคารโรงงานที่เห็นทั้งหมดนี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยเงินงบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 ด้วยวงเงิน193,947,000 บาท เสนอโครงการโดย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ เมื่อปี 2560 และผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬอนุมัติโครงการในปี 2560 
เป้าหมายหลักคือต้องการให้โรงงานนี้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในจังหวัดบึงกาฬและใกล้เคียงทั้งระบบ เพราะบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพารามากกว่า 1 ล้านไร่ ในเอกสารโครงการจึงระบุผลผลิต หรือ output ไว้ 5 โรงงาน คือ
โรงงานผลิตน้ำยางพาราข้น กำลังการผลิต 6พันกิโลกรัมต่อวัน โรงงานผลิตที่นอนยางพารา กำลังการผลิต 60 ชิ้นต่อวัน โรงงานผลิตหมอนยางพารา กำลังผลิต 3 พันใบต่อวัน โรงงานแผลิตยางแผ่นรวมควัน กำลังการผลิต 2500 แผ่นต่อวัน และโรงงานผลิตยางแผ่นรวมควันอัดก้อน กำลังการผลิต 500 ตันต่อวัน 
ขณะที่แผนการใช้งบประมาณ 193 ล้านบาท แบ่งเป็นงบเพื่อจัดสร้างโรงงาน 51,147,000
และเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรโรงงาน142,800,000 บาท
ข่าว 3 มิติ ได้รับการยืนยันว่างบประมาณกว่า 193 ล้านได้ถูกเบิกจ่ายไปแล้วเกือบทั้งหมด แต่สิ่งที่ยังขาดตอนนี้คือระบบไฟฟ้าโรงงาน ระบบน้ำใช้ในโรงงาน และระบบบำบัดน้ำเสียในโรงงาน
นี่คือส่วนหนึ่งที่หน่วยงานรับผิดชอบในจังหวัดตระหนักดี และมีรายงานว่าอยู่ในระหว่างการหางบประมาณใหม่อย่างน้อย 70 ล้านบาท จากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การสวนยางเพื่อสนับสนุน เพื่อหวังให้โรงงานเดินหน้าต่อไปได้ 
-ขณะที่ความซับซ้อนต่อมา คือโรงงานก่อสร้างบนที่ดินของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งชุมนุมสหกรณ์นี้ จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2557 ตอนนี้เหลือสหกรณ์ที่มาเป็นสมาชิกทั้งหมด 12 แห่ง 
ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 2559 มีการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีครั้งที่ 1 โดยวาระที่ 3.2 การเสนอซื้อที่ดิน37 ไร่ 2งาน 37 ตารางวา วงเงิน 1 ล้าน 8 แสน 5 หมื่นบาท และวาระ3.4 พิจารณาขอกู้เงินธนาคารออมสิน 20 ล้าน โดยจะใช้โฉนดที่ดิน ที่จะซื้อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 
อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของชุมนุมสหกรณ์ ได้วงเงิน 10 ล้านบาท ถ้วนเพื่อนำเงินมาสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรผลิตหมอน และเปิดเดินเครื่องได้ระยะหนึ่ง แต่ต้องยุติลงด้วยหลายเหตุผล จนส่งผลต่อการชำระสินเชื่อต่อธนาคาร 
จนเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปีที่แล้ว ศาลจังหวัดบึงกาฬ มีคำพิพากษาคดีแพ่ง ให้จำเลย ร่วมกัน ชำระเงินกว่า 8 ล้านบาท แก่โจกท์คือธนาคาร หากไม่ชำระ ให้ยึดโฉนดที่ดินแปลงนี้ขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ธนาคาร
จริงอยู่ภาระหนี้และที่ดิน ถือเป็นการดำเนินกิจการของชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ประเด็นคือที่ดินแปลงนี้ เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูป ซึ่งใช้งบกลุ่มจังหวัด 193 ล้านบาทมาก่อสร้าง //จึงเกิดข้อร้องเรียนด้วยความกังวลว่าการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งของทั้งชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และโรงงานแปรรูปที่ใช้งล 193 ล้านบาท ย่อมส่งผลถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ