ผ่านฉลุย! พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้าน ด้านฝ่ายค้านยังไม่ไว้ใจระบบตรวจสอบการใช้เงิน

เลือกตั้งและการเมือง

ผ่านฉลุย! พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้าน ด้านฝ่ายค้านยังไม่ไว้ใจระบบตรวจสอบการใช้เงิน

โดย

31 พ.ค. 2563

421 views

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร มีมติให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดกู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจากต้องรอให้มีบรรจุระเบียบวาระการประชุมตามญัตติเสียก่อน ขณะที่นายกรัฐมนตรี ไม่คัดค้าน หาก ส.ส.เห็นด้วย ด้านฝ่ายค้านชี้แจงการงดออกเสียงที่แตกต่างกัน 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยคะแนนเเสียงเห็นชอบ 274 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 207 เสียง
พระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบ 275 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 205 เสียง
และพระราชกำหนด การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เห็นชอบ 274 เสียง ไม่เห็นชอบ 195 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ออกเสียง 1 เสียง
โดยวันพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป ในส่วนที่ส.ส.เข้าชื่อยื่นญัตติ ขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ติดตามการใช้พระราชการกำหนดกู้เงินนั้น ยังไม่มีการพิจารณา เพราะต้องรอกำหนดระเบียบวาระการประชุมใหม่ 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า รัฐบาลพยายามดำเนินมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ทุกกลุ่ม โดยไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้กับใคร ทุกกลุ่มคนในประเทศต้องได้รับการเยียวยา ทั้ง 5 มิติ ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง เยียวยาทุกกลุ่ม ชะลอหนี้สิน และ การเข้าถึงแหล่งเงิน 
ส่วนมาตรการฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่ง 4 แสนล้านบาท ที่ฝ่ายค้านแสดงความเป็นห่วง นั้น ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีเป็นห่วงยิ่งกว่าฝ่ายค้าน แต่ต้องทำเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยินดีให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณ ไม่คัดค้านการตั้งคระกรรมาธิการตรวจสอบการกู้เงินทั้ง 3 ฉบับ
ขณะที่วิปฝ่ายค้านร่วมกันแถลงข่าวให้เหตุผลถึงการลงมติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ โดยนายสุทิน คลังแสง ประธานวิป กล่าวว่า ในพ.ร.ก. ฉบับแรกแม้จะเห็นด้วยในหลักการที่นำไปเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องคือระบบการตรวจสอบที่ยังไม่ดีพอ และไม่เชื่อว่ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะทำได้จริง จึงเห็นว่าการงดออกเสียง เช่นเดียวกับพ.ร.ก.ฉบับที่ 2 ที่งดออกเสียง แม้จะมุ่งช่วยเหลือกลุ่มSME ผู้ประกอบการรายย่อย แต่วิธีการยังไม่ถูกต้อง ยังมีความไม่ชอบมาพากล และระบบตรวจสอบก็ยังไม่มีเช่นเดียวกันกับฉบับแรก
พ.ร.ก.ฉบับที่ 3 นั้น กลุ่มเป้าหมายยังไม่ใช่ผู้เดือดร้อนที่จะต้องเร่งรีบในการออก พ.ร.ก. ผู้ประกอบการรายใหญ่แม้จะได้รับกระทบเดือดร้อน แต่ยังมีเวลาในการช่วยเหลือรูปแบบอื่น จึงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
ส่วนเสียงที่พรรคเสรีรวมไทยมีความเห็นต่างใน พ.ร.ก.ฉบับที่ 3 โดยของดออกเสียงนั้น เพราะมีจุดยืนมาตลอดว่าที่มาของพลเอกประยุทธ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเสนอกฎหมายโดยนายกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน จึงงดออกเสียงทุกฉบับ
ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายพระราชกำหนดกู้เงิน ในส่วนที่จะนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจ กว่า 4 แสนล้านบาท ยังไม่มีแผนที่ชัดเจน แต่กลับได้รับทราบข้อมูลว่าจัดสรร แบ่งปันงบประมาณที่จะลงสู่จังหวัดให้กับ ส.ส.คนละ 80 ล้านบาท แทนที่จะถูกนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับถูกกันไว้ให้กับส.ส.แต่ละคน 
โดยข้อมูลระบุว่าเมื่องบประมาณลงสู่จังหวัด ส.ส.ในพื้นที่สามารถเข้าไปกำหนดว่าจะนำเงิน 80 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการใดซึ่งเรื่องนี้จะนำไปสู่การหักหัวคิว เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม ทั้งที่งบประมาณนี้สามารถนำไปสร้างความยั่งยืน สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนในท้องถิ่น แต่กลับเป็นโครงการที่สร้างความมั่นคงและยังยืนให้กับนักการเมืองบางกลุ่มบางพรรค จึงอยากให้มีการตั้งกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบงบประมาณตาม พระราชกำหนดกู้เงิน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ