หมอเลี๊ยบ แนะเลิกตั้งด่าน ชี้ไม่ช่วยคัดกรองผู้ป่วย - รณรงค์ใช้ Face Shield เอาชนะโควิด-19

สังคม

หมอเลี๊ยบ แนะเลิกตั้งด่าน ชี้ไม่ช่วยคัดกรองผู้ป่วย - รณรงค์ใช้ Face Shield เอาชนะโควิด-19

โดย

29 มี.ค. 2563

980 views

จากกรณีการตั้งด่านตรวจคัดกรองโรค ป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี๊ยบ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้โพสต์บทความในเฟซบุ๊ก เผยว่า 
“ต้องสู้โควิดด้วยสติและปัญญา :
ประกวดออกแบบ Face Shield
ผมอ่านข่าวเพิ่มจุดตรวจทั่วประเทศ 377 จุด และข่าวกรุงเทพมหานครเลื่อนการสั่งปิดธุรกิจและห้างร้านไปจนถึง 30 เมษายนด้วยความไม่เข้าใจ (หรือถ้าให้พูดอย่างจริงใจ คือ ด้วยความหดหู่ใจ)
เรากำลังสู้กับโควิดด้วยข้อมูลชุดใด ด้วยภูมิปัญญาแบบไหน ใครหรือนักวิชาการท่านใดเสนอให้ ศอฉ.โควิดใช้ชุดมาตรการต่างๆในช่วง 2 วันที่ผ่านมาและที่จะใช้ต่อไปหลังจากนี้
โปรดเปิดหน้าออกมาอธิบายว่า ท่านมีเหตุผลอย่างไร มีข้อมูลอะไรที่ประชาชนไม่รู้ และมีองค์ความรู้อะไร ที่ผมและนักระบาดวิทยาบางคนไม่เข้าใจ
เท่าที่ผมทราบ กระทรวงสาธารณสุขไม่ใช่ผู้เสนอให้ตั้งจุดตรวจโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาปิดธุรกิจและห้างร้านต่างๆไปจนถึง 30 เมษายน
ถ้าเช่นนั้น ใครเสนอ และมีเหตุผลอะไร?
หูเป่ยปิดห้างร้าน 48 วัน กรุงเทพปิดห้างร้าน 40 วัน
……………………………………..
มณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิดในจีนปิดโรงเรียนและห้างร้านตั้งแต่ 23 มกราคม โดยต่อเวลาการปิดเป็นระยะๆ รวม 3 ช่วง คือ ช่วงแรก 23 มกราคม ถึง 12 กุมภาพันธ์, ช่วงที่สอง 13 กุมภาพันธ์ ถึง 20 กุมภาพันธ์, ช่วงที่สาม 21 กุมภาพันธ์ ถึง 10 มีนาคม รวมทั้งสิ้น 48 วัน
แต่ประเทศไทย ซึ่งวันนี้มีผู้ป่วย 1245 คน ประกาศปิดธุรกิจและห้างร้านล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอประเมินสถานการณ์ของโรคเป็นระยะๆ ตั้งแต่ 22 มีนาคม ถึง 30 เมษายน รวม 40 วัน!
ใช้หลักเกณฑ์ทางระบาดวิทยาใด หรือองค์ความรู้ใดมาตัดสินใจ
ตั้งสติกันหน่อยดีไหม
ป้องกันโควิด ต้องป้องกันเศรษฐกิจพังด้วย
……………………………………..
เราถูกบอกเล่ากันมาเสมอว่า “การป้องกันโรคสำคัญกว่าการรักษา” ผมอยากเพิ่มเติมว่า “การป้องกันโรคสำคัญกว่าการควบคุมโรคและการรักษาโรค และการกินดีอยู่ดี (ซึ่งมีผลต่อสุขภาพจิต เช่น อาการซึมเศร้า หรือ ฆ่าตัวตาย) สำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย”
สู้รบกับโควิด แต่ต้องไม่ลืมรับมือกับเศรษฐกิจที่เปรียบเสมือนเครื่องบินที่กำลังปักหัวลงกระแทกพื้น เพราะเครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องดับสนิทแล้ว และสร้างความทุกข์ใจให้ประชาชนจำนวนมาก
ถ้ายิ่งปิดธุรกิจและห้างร้านนานขึ้น มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ไม่พอหรอกครับ ต้องเพิ่มเงินอีกมากมาย มีเงินพอหรือ สำหรับการรักษาโรคแทรกซ้อนทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นจากแนวทางสู้โควิดที่ “ขีช้างจับตั๊กแตน”
ให้ตำรวจช่วยหาผู้เสี่ยงติดเชื้อดีกว่าไหม
ส่วนเรื่องการเพิ่มจุดตรวจ 377 จุด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑลนั้น เลิกเถอะครับ ไม่ได้ช่วยคัดกรองหาผู้ป่วยโควิดเลย นอกจากต้องการให้ผู้คนเบื่อหน่ายรถติดจนไม่อยากออกจากบ้าน แต่ทำอย่างนั้นก็ไม่ช่วยลดการระบาดในชุมชน หมู่บ้าน หรือคอนโด แต่อย่างใด ถ้ามีผู้ป่วยโควิดที่ยังไม่แสดงอาการอยู่ในชุมชน
ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไประดมกำลังช่วยฝ่ายอนามัยของกรุงเทพมหานคร กับอาสาสมัครสาธารณสุข ค้นหาผู้ป่วยโควิดแล้วนำมาตรวจ PCR หรือ Rapid Test (ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า ตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะตรวจได้ 20,000 รายต่อวัน), รวมทั้งปูพรมค้นหาผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และกักตัวไว้ 14 วัน..ดีกว่าไหม
Social Distancing คือมาตรการชั่วคราว
Face Shielding และล้างมือ คือของจริง
……………………………………..
ส่วนการป้องกันโรค วันนี้เราเน้นเรื่อง Social Distancing ซึ่งดีงาม คำถามคือ เราจะทำได้กี่วัน และถ้ามีการระบาดระลอกสองอย่างที่กลัวว่าจะเกิดขึ้นในจีน เราต้องทำ Social Distancing กันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีน (ถ้ามี) และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) อย่างเพียงพอ…ใช่หรือไม่
ในยุคการแพร่ระบาดของโรคเอดส์แรกๆ การทำ Social Distancing คือ “การงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า”
แต่เราหยุดทำ Social Distancing ดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ เพราะเรามีการป้องกันที่ได้ผล คือ “ถุงยางอนามัย”
ในยุคของโควิด การทำ Social Distancing คือ การอยู่บ้าน หรือ การใช้ชีวิตร่วมกับคนในบ้านที่แน่ใจว่า ไม่มีใครเป็นโรคโควิด
แต่เราต้องการการป้องกันที่ได้ผลจริงตลอดไป และไม่ยุ่งยากในการใช้ชีวิต
เราต้องการ “ถุงยางอนามัย” ของโรคโควิด
ผมเสนอว่า นอกจากสุขนิสัยเรื่องการล้างมือแล้ว เราต้องการ Face Shield ที่ถูกออกแบบให้มั่นใจว่า
สกัดกั้นไม่ให้สารคัดหลั่งมาปะทะใบหน้าได้โดยสิ้นเชิง และมีการทดสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
พกพาง่าย เพื่อความสะดวกในการใช้
ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องตลาด และราคาถูก
ประชาชนสามารถประกอบเองได้ไม่ยาก
ประกวดออกแบบ Face Shield
…………………………………….
ผมจึงขอเชิญชวนนักประดิษฐ์และ Makers ทั้งหลาย ช่วยกันประดิษฐ์คิดค้น Face Shield ที่มีคุณสมบัติ 4 ข้อข้างต้น โดยส่งประกวดมาภายในวันที่ 5 เมษายนนี้ ที่เพจ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รายละเอียดการส่งประกวด เช่น คลิปวีดีโอ และการส่งตัวอย่างจริง จะได้แจ้งต่อไป
ผมขอมอบเงินรางวัล 100,000 บาทให้แก่ผู้ออกแบบที่ตอบรับเป้าหมายทั้ง 4 ข้อนี้ได้ดีที่สุด ตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะประกาศชื่อต่อไป และผู้ได้รับรางวัลยินดีมอบทรัพย์สินทางปัญญานี้เป็นสมบัติสาธารณะ
มาช่วยกันสู้โควิดด้วยสติและปัญญากันเถอะครับ
ป.ล. Face Shield ที่ผมใส่อยู่ในภาพนี้ไม่ผ่านคุณสมบัติข้อ 2,3,4 ส่วนข้อ 1 ขอทดสอบทางวิทยาศาสตร์ก่อนครับ”
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ :  https://youtu.be/paHjv21xsoY

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ