นายกฯ แถลง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกระดับมาตรการเข้มสกัดไวรัส - 'วิษณุ' เผยแผนระดับต่อไป 'เคอร์ฟิว' ห้ามออกจากบ้าน แต่มีข้อยกเว้น

เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ แถลง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกระดับมาตรการเข้มสกัดไวรัส - 'วิษณุ' เผยแผนระดับต่อไป 'เคอร์ฟิว' ห้ามออกจากบ้าน แต่มีข้อยกเว้น

โดย

26 มี.ค. 2563

423 views

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง  โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (26 มี.ค.) ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. นี้ โดยแถลงว่า
"ช่วงเวลารายสัปดาห์และรายเดือนข้างหน้าต่อจากนี้ไป เราอาจจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้าย และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเรา ช่วงเวลานี้เป็นบททดสอบที่เราทุกคนไม่เคยเผชิญมาก่อน ถึงวันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤตจากโควิด-19 และสถานการณ์อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นและเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกายสุขภาพใจ รวมทั้งรายได้และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเหตุนี้ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราสามารถหยุดการแพร่ระบาดพร้อมกับลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทุกคนให้ได้"
"โดยตนจะเข้ามาบัญชาการการจัดการกับโควิด-19 ในทุกมิติอย่างเต็มตัว ทั้งด้านการป้องกันการระบาดการรักษาพยาบาลไปจนถึงการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 ตนจะเป็นผู้นำในภารกิจนี้และรายงานตรงต่อประชาชนชาวไทยทุกคน โดยจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 เป็นต้นไป ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบแล้วและจะยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ตั้งไว้แล้วให้เป็นหน่วยงานพิเศษตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฯ เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการและสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพรวดเร็ว เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ทีเดียว เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและขจัดปัญหาการทำงานแบบต่างคนต่างทำของหน่วยงานต่างๆ"
"ภารกิจนี้มีผมเป็นประธาน โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯกทม. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการต่างประเทศและการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทการปฏิบัติของทหารและตำรวจ"
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงอีกว่า "ภารกิจนี้ยังมีทีมงานจากทุกภาคส่วนเป็นคณะที่ปรึกษา โดยจะประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลสถานการณ์เป็นภาพเดียวกันและเมื่อตนจะจ่ายงานทุกฝ่ายจะรับทราบแผนงานทั้งหมดไปพร้อมกัน สามารถทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งผู้ที่จะรายงานต่อประชาชนจะต้องเป็นตนหรือผู้ที่ตนมอบหมายเท่านั้น สำหรับข้อกำหนดต่างๆ เช่นการห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยงการปิดสถานที่เสี่ยง ซึ่งปิดไปบ้างแล้ว การปิดช่องทางเข้าประเทศ การเสนอข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้สูงวัยคนป่วยและเด็ก การห้ามกักตุนสินค้าการขึ้นราคาสินค้า โดยไม่มีเหตุผลการห้ามเสนอข่าวบิดเบือนจะมีการประจักษ์ตามมาหลังจากที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว"
"ผมขอยืนยันว่าภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้ จะไม่มีการปิดร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตข้อกำหนดเหล่านี้ อาจจะสร้างความไม่สะดวกกับงประชาชนบ้าง แต่ขอให้ทุกท่านร่วมมือและเสียสละเพื่อส่วนรวมงานหลักๆที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุดและดำเนินการควบคู่กันไปคือ งานป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการควบคุมพื้นที่ทุกพื้นที่ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นแอพพลิเคชั่นกำหนดโลเคชั่นมาช่วยในการเฝ้าสังเกตการณ์หรือควอรันทีน การรักษาพยาบาลรวมทั้งการเยียวยาฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19"
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงต่อว่า "นอกจากนี้ตนจะปรับปรุงให้การสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 กับประชาชนให้มีความถูกต้องชัดเจนและครบถ้วน โดยตนสั่งการให้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชนเพียงวันละหนึ่งครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อนลดการบิดเบือนข้อมูลและลดการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน"
"ขอยืนยันว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นทางการตรงไปตรงมา โปร่งใสและชัดเจนจะเพียงแหล่งเดียวเป็นประจำทุกวันและขอให้ถือว่าข้อมูลที่ไม่ได้มาจากการแถลงประจำวันของคณะทำงานฉุกเฉินนี้อาจจะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ นอกจากนี้ผมขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนเพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว ขอให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวันของทีมสื่อเฉพาะกิจและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลักแทนการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อให้ท่านเหล่านั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าหากทำได้เช่นนี้ สื่อมวลชนจะเป็นกำลังสำคัญ ในการสู้กับโรคโควิด-19 ครั้งนี้ สำหรับผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกท่าน พวกเราคือทีมเดียวกัน ทุกท่านสามารถร่วมแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องจากการแถลงประจำวัน ช่วยกันรายงานและต่อต้านการแชร์ข่าวปลอมและใช้ความคิดสร้างสรรค์ของท่านช่วยให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยรับรู้และเข้าใจข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวางยิ่งขึ้น"
"นอกจากนี้ขอเตือนกลุ่มคนที่จะฉวยโอกาสหาผลประโยชน์บนความทุกข์ร้อนความเป็นความตายของประชาชนให้รู้ไว้ว่า อย่าคิดว่าจะหลุดพ้นไปได้ ตนจะทำทุกทางที่จะใช้กฎหมายจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างรวดเร็วเด็ดขาด และไม่ปราณีการบังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคจะเข้มข้นขึ้นมากทั่วประเทศ ทั้งการเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฏหมายและการเอาผิดข้าราชการและเจ้าพนักงานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตามภาครัฐอย่างเดียวไม่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้เพียงลำพัง ถ้าเราไม่จับมือและดึงภาคส่วนอื่นๆเข้ามาเป็นทีมเดียวกันกับภาครัฐ"
"ประเทศไทยโชคดีที่มีคนเก่งมากมายอยู่ในภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่พร้อมจะช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาภายใน 1 สัปดาห์ ผมจะประสานทีมงานไปทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของทุกกลุ่มรวมทั้งรับทราบศักยภาพของแต่ละกลุ่มในการที่จะเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหา และผมจะดึงคนเก่งเหล่านี้มาร่วมกันทำงาน ต่อจากนี้ไปมาตรการต่างๆ ที่รัฐจะออกมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายนี้จะมีความเข้มข้นขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ผมขอความร่วมมือและขอให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมทั้งปฎิบัติตามนโยบายป้องกันโรคระบาดนี้อย่างเคร่งครัดบางคนอาจจะรู้สึกเสียสิทธิเสรีภาพ แต่มันเป็นการทำเพื่อปกป้องชีวิตของท่านเองของครอบครัวของท่านและของคนไทยทุกคนหากพวกเราเข้าใจเข้มงวดและจริงจังในเวลาไม่นานผมมั่นใจว่าพวกเราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้"
"ช่วงเวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่สร้างความเจ็บปวดและท้าทายความรักความสามัคคีของพวกเราทุกคน แต่ขณะเดียวกันช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่จะดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเราคนไทยทุกคนออกมานั่นก็คือ ความกล้าหาญความรักที่มีต่อพี่น้องประชาชนความเสียสละที่จะช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงความเอื้ออาทรต่อกันและกัน ซึ่งจะนำพาให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้ ด้วยความสามัคคีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันความมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งหาไม่ได้จากชาติใดในโลก โควิด-19 ที่น่ากลัวและอันตรายได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลกก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่โควิด-19 ไม่สามารถทำร้ายได้ก็คือ ความดีงามในใจและความสามัคคีของคนไทยจะกลับมาเป็นประกายไปทั่วพื้นแผ่นดินไทยอีกครั้ง"
"ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีขอให้คำมั่นสัญญากับทุกคนว่าผมจะเดินหน้าสุดความสามารถ เพื่อนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ผมขอให้ทุกคนเชื่อมั่นและร่วมมือกันฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ประเทศไทยที่รักของเราทุกคนจะต้องกลับมาแข็งแรงอีกครั้งเราจะสู้ไปด้วยกันและเราจะชนะไปด้วยกัน"
ส่วนทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงเรื่องของการเคอร์ฟิว บอกว่า ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 ยืนยันว่า ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิว จัดอยู่ในประเภทมาตรการควรทำ ยังไม่ได้ห้าม เป็นเพียงคำเตือนระดับที่ 1 
แต่ถ้าไปถึงขั้นเคอร์ฟิว ก็จะมีการเตือนโดยไม่ออกข้อกำหนดล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ไม่ให้เกิดการกักตุนอาหารหรือสินค้า หากมีการประกาศเคอร์ฟิว การประกาศจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เคยเจอ เพราะปกติเวลาประกาศเคอร์ฟิวจะห้ามออกจากเคหะสถานตอนเวลากลางคืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคง
แต่กับสถานการณ์โควิด-19 จะไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าหากจะประกาศเคอร์ฟิวก็ต้องตลอด 24 ชม. แต่ต้องมาดูกันอีกทีว่าจะมีรายละเอียดข้อยกเว้นอะไรบ้าง 
ในส่วนของ 16 ข้อกำหนดตามการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีดังนี้
1.การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง โดยห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ สถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19 ตามที่ผู้ว่าฯกทม. และผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดตามมติครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 หรือ ตามที่ผู้ว่าฯกทม. แหรือ เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อประกาศ หรือสั่งตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
2.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค โดยให้ผู้ว่าฯกทม.และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่มีคนจำนวนมากไปทำหิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 เป็นการชั่วคราว แต่แย่างน้อยให้สั่งปิดสถานที่ดังต่อไปนี้ 1.สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สนามม้า ในทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น 2.ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดง หรือการละเล่น สาธารณะ สถานประกอบการ อ่าง-อบ-นวด และนวดแผนโบราณ สปา ส่วนที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนต) สถานบันเทิง ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น 3.ส่วนสถานที่อื่น เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่ง หรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า ให้พิจารณาโดยสั่งปิดเฉพาะส่วนหรือทั้งหมด และอาจกำหนดเงื่อนไข และเงื่อนเวลา ตามความจำเป็น และเหมาะสม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกทม. แล้วแต่กรณี
3.การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในการใช้ยานพาหนะ อากาศยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่น เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่เป็นกรณี หรือผู้มีเหตุยกเว้นตามที่นายกรัฐมนตรีอนุญาต เช่น ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น คณะทูต คณะกงศุล ผู้แทนรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีใบอนุญาตทำงาน หรือได้รับอนุญาตจากราชการให้ทำงานในราชอาณาจักร ส่วนเป็นผู้มีสัญชาติไทยให้ติดต่อสถานทูตออกใบรับรองให้ หรือมีใบรับรองแพทย์
4.การห้ามกักตุนสินค้า ทั้งยาเวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค ในชีวิตประจำวัน
5.การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
6.การเสนอข่าว ห้ามเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ที่มีข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแล รักษาความสงบอรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีให้เจ้าหน้าที่เตือน ให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หากรุนแรงให้ดำเนินคดีตาม พรบ.คอมฯ 2550 หรือ พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน
7.มาตรการเตรียมรับสถานการณ์ 1.ให้ผู้ว่าฯกทม.และผู้ว่าฯทุกจังหวัด เป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติ ในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ หากมีปัญหาให้รายงานกระทรวงมหาดไทย 2.ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์เผยแพร่มาตรการช่วยเหลือหรือบรรเทาผลกระทบ อันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการของรัฐ 3.ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล จัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจโรค เครื่องหายใจ หรืออุปกรณ์อื่นที่จำเป็นให้เพียงพอตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขกำหนด พร้อมเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ จากแหล่งต่างๆ และเตรียมสถานที่กักกัน หรือเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น โดยขอความร่วมมือดัดแปลงสถานที่ เช่น โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอประชุม สถานที่ปฏิบัติธรรม ศาลาวัด อาคารเอกชนที่ยังไม่ได้ใช้งาน หรือสถานที่ราชการ เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว 4.ในการกักตัวเอง ไว้สังเกตอาการ
8.มาตรการพึ่งปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย อยู่ในเคหสถาน หรือ บริเวณสุานที่พำนักของตน เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ จากสภาพแวดล้อมภายนอก 1.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป 2.กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำตามธรรมชาติของโรค และด้วยยาที่ใช้รักษา 3.กลุ่มเด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา
ทั้งนี้เว้นแต่บุคคลดังกล่าว มีความจำเป็นเพื่อพบแพทย์ รักษาพยาบาล ทำธุรกรรมเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันการเงิน ตู้เอทีเอ็ม การสื่อสารมวลชน โทรคมนาคม และ ไปรษณีย์ การให้บริการขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้า เพื่อให้อุปโภคบริโภค การจัดหาและซื้อขายอาหาร การติดต่อคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการหรือศาล
9.มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดในการตรวจลงตรา หรือออกวีซ่า หรือชาวต่างชาติที่ไม่มีกิจการ หรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรยังคงอยู่ในราชอาณาจักร
10.มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ให้กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเวรยาม ตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อาชญากรรม การรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน หรือกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค หากพบให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
11.มาตรการป้องกันโรค ให้ทำความสะอาดสถานที่ / ให้เจ้าหน้าที่ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า / เว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส / ให้ควบคุมผู้ร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด
12.นโยบายยังคงให้เปิดสถานที่ทำการ ทั้งโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารที่ไม่ใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการ และแผงจำหน่ายอาหาร ที่ผู้บริโภคซื้อไปบริโภคนอกสถานที่ โรงแรมในส่วนซึ่งเป็นที่พักอาศัยและร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้าในส่วนซึ่งเป็นแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ตลาด และตลาดนัด ในส่วนซึ่งจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์และสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ซ การให้บริการขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้า รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง ยังคงประกอบกิจการต่อไปตามปกติ
13.คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เวลานี้พึงงด หรือชะลอการเดินทางโดยไม่จำเป็น กรณีจำเป็นต้องเดินทางข้ามพื้นที่ต้องรับการตรวจคัดกรอง เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามตัว มารับตรวจอาการ หรือกักกันตัว
14.คำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่นๆ เช่น พิธีมงคลสมรส พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พิธีบำเพ็ญกุศล พิธีศพ พิธีสงกรานต์ กิจกรรมภายในครอบครัว ยังคงจัดได้ตามความเหมาเสม แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
15.โทษ กรณีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 1-6 ต้องรับโทษตามมาตรา 18 พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 หรือมาตรา 41 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ
16.ข้อกำหนดนี้บังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/fbOCTx0sn40

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ