ครม.ไฟเขียว แจกเงินคนตกงาน 5,000 บาท นาน 3 เดือน เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19

เศรษฐกิจ

ครม.ไฟเขียว แจกเงินคนตกงาน 5,000 บาท นาน 3 เดือน เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19

โดย

24 มี.ค. 2563

60.8K views

ครม.ไฟเขียวมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เฟส 2 ให้เงินแรงงานนอกระบบประกันสังคม คนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมเศรษฐกิจ ประกาศมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เฟส 2 หลังจากพบว่ามีแรงงานตกงานจากสถานการณ์นี้จำนวนมาก
โดยในส่วนของลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รัฐบาลจะจ่ายเงินให้คนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือประมาณ 3 ล้านคน ส่วนงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะมีกลไกช่วยเหลือ กรณีว่างงานของประกันสังคมอยู่แล้ว
แต่หากเงินสนับสนุนดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็ยังมีสินเชื่อฉุกเฉิน ไม่ต้องใช้หลักประกัน วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ 10,000 บาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน และหากจำเป็นต้องใช้เงินสำหรับการผ่อนชำระหนี้ หรือ มีรายจ่ายเพิ่มเติม ก็จะมีสินเชื่อพิเศษที่ต้องใช้หลักประกัน วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือนไว้รองรับ และยังมีวงเงินอีก 2,000 ล้านบาท ให้โรงรับจำนำของรัฐ รับจำนำโดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาระ คือ จะยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 63 , หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มจาก 15,000 บาทเป็น 25,000 บาท และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงจะมีการฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพให้กับผู้ที่ยังไม่มีงานทำ
ขณะที่ มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ ได้เตรียมวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ให้กับเอสเอ็มอี แบงก์ ไปเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
โดยปล่อยสินเชื่อให้รายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรก  ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ยืดภาษี VAT  ชภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการ และอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโควิด-19 และยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้กับ Non-Bank เช่น ลิซซิ่ง จนถึง 31 ธันวาคม ปี 64 โดยหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น รัฐบาลจะมีมาตรการอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมเป็นระยะ
ชมผ่านยูทูปได้ที่นี่ : https://youtu.be/yo54-pyn84g

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ