เลือกตั้งและการเมือง

กกต. ยอมถอย! ให้ผู้สมัคร สว. แนะนำตัวผ่านโซเชียลได้ - สื่อสัมภาษณ์เรื่องทั่วไปได้ แต่ห้ามแนะนำตัวเอง

โดย nattachat_c

15 พ.ค. 2567

31 views

วานนี้ (14 พ.ค. 67) เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. พบปะพูดคุยกับสื่อมวลชน ในเรื่องการเลือก สว.


นายแสวง กล่าวว่า กกต.ได้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ และเข้าถึงข้อมูลต่อผู้สมัครจากตัวผู้สมัครอีกทางหนึ่งคือ ผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก ยูทูบ อินสตาแกรม สามารถแนะนำตัวได้ หมายความว่าประชาชนสามารถเห็นท่านได้ เข้าถึงข้อมูลจากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้น ประชาชนรับรู้ เข้าถึง ติดตาม ตรวจสอบ ผู้สมัคร ได้ 2 ช่องทาง คือ ช่องทางของสำนักงานกกต. เพียงแต่ว่า ช่วง 5 วันของการเปิดรับสมัคร กฎหมายห้ามเปิดเผยข้อมูล เพราะจะมีส่วนได้เสีย ทำให้คนเลือกลงกลุ่มสมัครได้ แต่ กกต.จะเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ทุกรายชื่อ ทุกกลุ่ม ทุกจังหวัด และประวัติต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกต. และแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโหวต เพื่อเป็นอีกช่องทาง ให้ประชาชนช่วย กกต.ตรวจสอบข้อมูล


และอีกช่องทางคือการรับรู้ข้อมูลของผู้สมัครผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกกต.ได้พิจารณาแก้ไขระเบียบว่าด้วยแนะนำตัว เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการเลือก สว. และสามารถสังเกตการณ์การเลือก สว.ในวันเลือกทุกระดับได้ทุกที่ และจะกล้องวงจรปิดถ่ายทอด เพื่อแสดงให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่รับสมัครจนถึงประกาศรายชื่อ .ว.200 คน และสำรองอีก 100 คน


นายแสวง กล่าวถึงการเลือก สว.ที่กำหนดปฎิทินการเลือกออกมาแล้วว่า กกต.ให้ตนมายืนยันกับประชาชนว่าจะได้สมาชิกวุฒิสภา 200 คน พร้อมสำรอง ตามกำหนดเวลา 60 วันอ ย่างแน่นอน และไม่มีข้อกฎหมายใดที่จะประวิงเวลา หรือเลื่อนให้ได้สว. 200 คนออกไปจากไทม์ไลน์ ที่ได้กำหนดไว้ พร้อมย้ำว่า กกต. ต้องทำตามกฏหมาย


ส่วนอีกปัจจัยที่คนกังวล เป็นการร้องคัดค้านเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ที่อาจจะส่งผลให้การเลือก ล่าช้านั้นนายแสวง กล่าวว่า ในระหว่างการนับคะแนนให้สิทธิ์ท้วงได้ หากเห็นว่าคณะกรรมการเลือกทำหน้าที่ไม่ชอบมาพากลหรือนับคะแนนผิดจากสิ่งที่แสดงให้เห็น ซึ่งกรรมการก็จะวินิจฉัยในวันนั้นทันที ถ้าไม่พอใจก็ไปร้องศาลฎีกาได้ และศาลฎีกาต้อง ตัดสินให้เสร็จก่อน 1 วัน หากตัดสินไม่เสร็จ ก็เดินหน้าเลือกต่อไป และ ไม่ผูกพันกับสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว


"เมื่อมาดูตามกระบวนการต่างๆ จึงไม่มีช่องไหนที่จะทำให้การเลือกสว. ครั้งนี้เกินโรดแมปแม้แต่วันเดียว เราจะได้ สว. 200 คนแน่นอน การประกาศ สว. ต้องประกาศ 200 คน ถ้าได้ 200 คน ตอนนั้นใครมาถูกสอยทีหลังด้วยเรื่องคุณสมบัติ หรือกระบวนการของการทุจริต พูดภาษาชาวบ้านก็ถูกถูกสอย ก็มีสำรอง วิธีสำรองก็คือ มีสำรองกลุ่มละ 5 คน ครั้งแรกให้เรียกจากกลุ่มตัวเองก่อน ถ้าหมดก็ไปเรียกจากกลุ่มอื่น โดยใช้วิธีจับฉลากจนเกลี้ยง ถ้าให้ สว.มีเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าจริง 1 คือไม่น้อยกว่า 100 คน และถ้าเวลายังเหลือ เกิน 1 ปีก็ให้ กกต. จัดการเลือกให้ครบ ดังนั้น ยืนยันประเทศชาติเดินหน้าได้แน่นอน ไม่ต้องกังวล เพราะรัฐธรรมนูญออกมาได้ครอบคลุมทุกประเด็น จึงไม่จำเป็นหรือกังวลว่าจะไม่ได้ สว.ภายในเวลา หรือไม่ได้ แล้วจะได้จำนวนเท่าไหร่ ด้วยเงื่อนไขแบบนี้กกต. สามารถประกาศได้ 200 คน ตามไทม์ไลน์แน่นอน"


สำหรับการปฏิบัติตัวของสื่อนั้น เลขากกต. ยืนยันว่าไม่มีระเบียบไหนที่กระทบกับการทำงานของสื่อ โดยยังคงสัมภาษณ์เรื่องทั่วไปได้ แต่ตัวผู้สมัครห้ามแนะนำตัวเอง ว่าลงสมัครเบอร์นั้นเบอร์นี้ ขณะที่สื่อที่ไปลงสมัคร ก็ยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ไปแนะนำตัวหรือบอกคุณสมบัติของตัวเอง จึงไม่ได้ริดรอนการทำงานของสื่อแต่อย่างใด


เมื่อถามว่าคณะหรือองค์กร อย่างคณะก้าวหน้าและไอลอว์สามารถแนะนำผู้สมัคร ได้เหมือนกับสื่อเลยหรือไม่นั้น นายแสวง กล่าวว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ขอให้ระวังตัวเองก็แล้วกัน เพราะคำว่า สื่อหรือผู้อื่นคือคนเดียวกัน หากรู้เห็นเป็นใจในการทำให้การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ก็จะต้องได้รับโทษตรงนั้น ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงในการวินิจฉัย ถ้าผู้สมัครไม่สบายใจ ต้องบอกว่าอย่ามาทำให้ตน แต่หากรับประโยชน์ตลอด ก็ต้องพิสูจน์ว่ารู้เห็นเป็นใจหรือไม่


ยืนยันการรณรงค์ และเชิญชวนไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้บอกว่าใครมีอาชีพอะไร ทำได้ทั้งนั้น แต่อย่าไปช่วยเหลือ หรือแนะนำตัวในสิ่งที่ผิด เพราะระเบียบแนะนำตัวให้ผู้สมัครดูแลตัวเอง ก็ต้องดูว่าใครช่วยเขาได้บ้าง ดังนั้น สื่อทำหน้าที่ตามปกติ แต่ผู้สมัครก็จะต้องดูแลตัวเอง โดยทั้งหมดต้องอยู่ที่ข้อเท็จจริง จะวินิจฉัยอะไรตอนนี้ไม่ได้

----------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/hkQ5QHv010k

คุณอาจสนใจ

Related News