สังคม

กทม.ถกแก้อุบัติเหตุฝาท่อ เตรียมใช้ AI ตรวจความปลอดภัย พร้อมเปลี่ยนวัสดุท่อ ป้องกันถูกขโมย

โดย panwilai_c

7 พ.ค. 2567

78 views

จากเหตุการณ์ชายเดินตกท่อเสียชีวิต และกรณีผู้ได้รับอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง ของหน่วยงานสาธารณูปโภค หลายหน่วยงานตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ผู้บริหาร กรุงเทพมหานคร เรียกประชุมฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางสร้างความปลอดภัย และป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างโครงการเหล่านี้ โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อการเข้าแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง



นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านสาธารณูปโภคทั้งภายในและภายนอกที่รับผิดชอบเกี่ยวกับฝาท่อของ กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไข ประกอบด้วย สำนักการโยธาสำนักงานก่อสร้างและบูรณะ /สำนักงานวิศวกรรมทาง / สำนักระบายน้ำ / สำนักการจราจรและขนส่ง การไฟฟ้านครหลวง / การประปานครหลวง/ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่ดูแลงานท่อร้อยสายและ สายไฟฟ้าลงใต้ดิน รวมถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ในตอนนี้ โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานก็รับหลักการความปลอดภัย ของโครงการก่อสร้างให้เรียบร้อยทั้งก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง



สำหรับการแก้ปัญหาและป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น การไฟฟ้านครหลวงในฐานะหน่วยงานที่ทำการก่อสร้างขณะนี้ รับปากว่าก่อนการก่อสร้าง จะมีการตรวจสอบเป็นวงรอบตามระยะเวลา โดยประเมินสภาพบ่อพักหรืองานที่จะก่อสร้างว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ รวมไปถึงพื้นผิวการจราจรโดยรอบก็ต้องมีความปลอดภัยเช่นกัน



นอกจากนี้ยังได้หารือการปรับเปลี่ยนรูปแบบฝาบ่อพัก เป็นวัสดุที่ไม่ใช่เหล็ก เพื่อป้องกันการขโมยฝาท่อไปขายต่อ ซึ่งวัสดุที่เปลี่ยนมาใช้จะต้องรับน้ำหนักได้อย่างแข็งแรง



สำหรับภาพรวมกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับฝาท่อ คือสำนักการระบายน้ำมีฝาท่อตามแนวระบายน้ำที่ต้องตรวจสอบประมาณ 6,800 กิโลเมตร มีบ่อต่างๆที่ต้องตรวจสอบประมาณ 500,000 กว่าบ่อ ล่าสุดสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ลงไปดูแลตรวจสอบแล้ว



นายสถิตย์ พงศธรวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. อธิบายว่า ปัจจุบัน โครงการที่ กฟน. ดำเนินการอยู่มีการใช้ฝาท่อชั่วคราว ประมาณ 200 ฝา แต่มีฝาสูญหายไปแล้วมากว่า 100 ฝา ขณะที่ภาพรวมของบ่อพักท่อร้อยสายทั่ว กทม. มีทั้งหมด 1,800 บ่อ



เทคโนโลยีเอไอตรวจวัดความปลอดภัยของโครงการก่อสร้างที่ กฟน. นำมาใช้ จะช่วยติดตามสภาพผิวจราจรว่ามีเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลต่อความปลอดภัยหรือไม่ หากตรวจพบก็จะมีการแจ้งเตือนให้มีการแก้ไข เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการตรวจจับแบบเรียลไทม์



เริ่มทดลองติดตั้งมาแล้วกว่า 1 เดือน บนถนนพระรามที่ 3 เขตยานนาวา ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและติดตามผลการทำงาน เพื่อนำมาปรับใช้กับจุดอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ



ส่วนการเยียวยาช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวการไฟฟ้านครหลวงพร้อมและดำเนินการช่วยเหลือให้กับประชาชนต่อไป และ ยืนยันว่าเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ของ กทม. เมื่อได้รับรายงานแล้ว ทางการไฟฟ้านครหลวงก็จะเข้าแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมง

คุณอาจสนใจ