การอนุรักษ์ 'เหยี่ยวดำ' แห่งทุ่งเหยี่ยวดำปากพลี จ.นครนายก พบเส้นทางอพยพใหม่ไปอินเดีย

สังคม

การอนุรักษ์ 'เหยี่ยวดำ' แห่งทุ่งเหยี่ยวดำปากพลี จ.นครนายก พบเส้นทางอพยพใหม่ไปอินเดีย

โดย passamon_a

9 มี.ค. 2564

110 views

หน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบเส้นทางอพยพใหม่ของเหยี่ยวดำไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการติดเครื่องส่งสัญญาณบนตัวเหยี่ยวดำ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความร่วมมือกับชาวบ้านในอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เพื่อการอนุรักษ์นกนักล่าต่าง ๆ ทำให้ในช่วงนี้ของทุกปี จะมีเหยี่ยวและอินทรีหลากชนิดมารวมกันกว่า 2 พันตัว  


นี่คือพฤติกรรมของเหยี่ยวดำที่พบได้ในช่วงเช้าของทุกวัน ตามการเก็บข้อมูลของหน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะพบเหยี่ยวดำสายพันธุ์ไทย ในระยะใกล้แบบนี้ ทำให้นี่คือจุดเด่นของทุ่งเหยี่ยวดำปากพลี ในอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าโครงการวิจัย ระบุว่า ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา ได้ศึกษาเหยี่ยวดำในประเทศจนพบว่านกนักล่าชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง ไปจนถึงจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนทีมวิจัยด้วยการติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมบนเหยี่ยวดำเพศผู้ชื่อ นาก ทำให้เกิดการค้นพบใหม่ ถึงเส้นทางการอพยพกว่า 4 พันกิโลเมตรไปทางอินเดีย 


การค้นพบที่เกิดขึ้นทำให้ทราบว่าเหยี่ยวดำไทยได้กระจายพันธุ์ไปในทวีปอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในทุก ๆ ปี พวกมันจะอพยพกลับมายังถิ่นกำเนิดของพวกมันในประเทศไทย


ภัยคุกคามปัจจุบัน คือการนำเหยี่ยวดำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ทางทีมวิจัยจึงได้ร่วมกับชาวบ้านปากพลี ทำโครงการอนุรักษ์นกนักล่าท้องถิ่นขึ้น ป้องกันการจับลูกเหยี่ยวไปขาย ด้วยการให้ความรู้กับชาวบ้านถึงวิธีการดูแลเหยี่ยวตามธรรมชาติ และให้เห็นประโยชน์ของนกนักล่าที่คอยช่วยกำจัดสัตว์ศัตรูทางการเกษตร จึงเกิดความรักและหวงแหนสัตว์ป่าเหล่านี้ จากการพึ่งพาอาศัยกัน 


ล่าสุดทางทีมวิจัยได้ติดกล้องเพื่อศึกษาพฤติกรรมเพิ่มเติมของเหยี่ยวดำจำนวน 28 รัง และมีแผนที่จะติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมที่เหยี่ยวดำอีก 8 ตัว เพื่อศึกษาเส้นทางการอพยพของพวกมัน

คุณอาจสนใจ